สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ เตือน ปัสสาวะปนเลือดสดหรือมีสีน้ำตาลคล้ำ ปัสสาวะปนลิ่มเลือด ปัสสาวะไม่ออก ควรรีบพบแพทย์เพื่อค้นหาความผิดปกติ เพราะอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้

 

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะที่มีลักษณะคล้ายถุง เพื่อทำหน้าที่ในการกักเก็บปัสสาวะ เป็นอวัยวะที่อยู่ภายในอุ้งเชิงกรานบริเวณเหนือหัวเหน่า ภายในกระเพาะปัสสาวะจะถูกบุด้วยเยื่อบุที่ประกอบจากเซลล์ที่ความหนาหลายเซลล์ (Transitional Cell) เพื่อทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ของเสียในปัสสาวะถูกดูดซึมกลับเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งหากชั้นเซลล์ดังกล่าวมีการเจริญเติบโตไปในลักษณะผิดปกติ ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ จนกลายเป็นเนื้อร้าย (Transitional Cell Carcinoma) หรือเรียกว่า มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ข้อมูลล่าสุดจากการรวบรวมของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand Vol.XI 2019-2021) พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 7 คน  คิดเป็นร้อยละ 2 ของมะเร็งทั้งหมด มักเกิดในเพศชายมากกว่าในเพศหญิงประมาณ 3 ถึง 4 เท่า โดยอัตราการเสียชีวิตจะมากขึ้นตามระยะของมะเร็งที่เป็นมากขึ้น หรือได้รับการรักษาช้า

 

เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า อาการที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ คืออาการปัสสาวะเป็นเลือด โดยเฉพาะในรายที่ไม่พบอาการปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วยจะพบว่ามีความเสี่ยงในการพบมะเร็งกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้น หากมะเร็งเข้าสู่ระยะลุกลามอาจทำให้มีอาการปวดท้องน้อย ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ปัสสาวะออกน้อยหรือปัสสาวะลำบากได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือการสูบบุหรี่ ซึ่งสารเคมีในบุหรี่จะถูกขับมากับปัสสาวะจนรบกวนเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้การสัมผัสสารเคมีในอุตสาหกรรมสี ยาง หรือปิโตรเคมี การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง หรือมีประวัติมะเร็งกระเพาะปัสสาวะในครอบครัว ล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ในรายที่สงสัยแพทย์จะทำการส่องกล้องกระเพาะปัสสาวะผ่านทางท่อปัสสาวะร่วมกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือการทำอัลตราซาวนด์อวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุต่อไป

 

นายแพทย์พร้อมวงศ์ งามวุฒิวงศ์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการรักษาในปัจจุบัน วิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความลึกของมะเร็งว่าลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ โดยถ้ามะเร็งยังอยู่ระยะเริ่มแรกที่ยังไม่ลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ การรักษาจะสามารถตัดเฉพาะก้อนมะเร็ง โดยสามารถเก็บกระเพาะปัสสาวะเดิมไว้ได้ ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยใส่กล้องผ่านทางท่อปัสสาวะ (TUR-BT : Transurethral Resection of Bladder tumor) ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น การใส่ยาเคมีบัด (Chemotherapy) ในกระเพาะปัสสาวะโดยตรง การใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immune Therapy) หรือการใช้ยีนบำบัด (Gene Therapy)  เพื่อลดการลุกลามและการเกิดมะเร็งซ้ำ แต่ถ้าปล่อยไว้จนมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างและลุกลามถึงชั้นกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ การรักษามักจะต้องผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะและต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างเคียงออก ร่วมกับการทำช่องปัสสาวะเทียมทางหน้าท้องแบบถาวร หรือทำกระเพาะปัสสาวะเทียมจากลำไส้

 

            แม้ว่ามะเร็งจะเป็นโรคที่อันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ แต่ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้า ทำให้โรคมะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะในระยะต้น แต่กระนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง เริ่มการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง งดการสูบบุหรี่ แอลกอฮอล์ อาหารหรือเนื้อสัตว์แปรรูป หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมี ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส รวมถึงการหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพียงเท่านี้เราทุกคนก็จะมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง หากท่านมีข้อสงสัย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติผ่านทาง Facebook : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute และ LINE : NCI รู้สู้มะเร็ง

…………………………..

- ขอขอบคุณ -

28 พฤษภาคม 2568



   


View 31    28/05/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์