โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) รู้เท่าทันโรคติดเชื้อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน
- กรมการแพทย์
- 56 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงกินอาหารและเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก งดนำเนื้อสัตว์ที่ไม่รู้แหล่งที่มา สัตว์ที่ป่วยหรือตายผิดปกติมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะโค กระบือ แกะ แพะ หลังพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) 1 ราย จากจังหวัดมุกดาหาร ย้ำกินอาหารที่ปรุงสุก 100% งดชำแหละสัตว์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน หากมีอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์
วันนี้ (7 พฤษภาคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ว่าจากสถานการณ์การระบาดของโรคแอนแทรกซ์ จังหวัดมุกดาหาร ข้อมูล ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เวลา 08.00 น. พบผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 4 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้ป่วยเสียชีวิตที่มีการเผยแพร่รายงานข่าวไปแล้ว 1 ราย และผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา 3 ราย (รักษาที่ รพ.มุกดาหาร และ รพ.ดอนตาล) รวมผู้สัมผัสทั้งหมด 636 ราย สิ้นสุดระยะเฝ้าระวังโรคแล้ว 538 ราย และอยู่ในระยะการเฝ้าระวังโรคทางผิวหนังและทางเดินอาหาร 98 ราย
จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาและการสอบสวนโรคแอนแทรกซ์ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา พบว่า การติดเชื้อในคนส่วนใหญ่เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น การชำแหละเนื้อสัตว์ การบริโภคเนื้อสัตว์ดิบหรือปรุงไม่สุก หรือการสัมผัสกับหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่มีเชื้อ ซึ่งในช่วงนี้ใกล้ช่วงเทศกาลงานบุญ งานบุญบั้งไฟ ซึ่งคาดว่าอาจมีการรวมกลุ่มกันเพื่อประกอบอาหาร โดยเฉพาะการทำอาหารกินเองในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนๆ รวมถึงอาจมีการชำแหละเนื้อสัตว์กันเองเพื่อนำมาประกอบอาหารในช่วงดังกล่าว หากสัตว์ดังกล่าวมีอาการป่วยหรือตายผิดปกติเป็นสัตว์ในพื้นที่หรือมีการนำเข้าสัตว์จากนอกพื้นที่ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา ผู้ชำแหละโดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันและผู้รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่ไม่ได้รับการปรุงสุกมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแอนแทรกซ์ บางรายอาจมีอาการรุนแรง และทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 80
ดังนั้น ขอเน้นย้ำให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ เช่น จังหวัดมุกดาหาร และพื้นที่ใกล้เคียง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการสัมผัส โค กระบือ แพะ แกะ ที่ป่วยหรือตายผิดปกติ 2. ล้างมือ ชำระล้างร่างกายหลังสัมผัสสัตว์ 3. เลือกบริโภคเนื้อสัตว์ ที่ได้รับการรับรองอาหารปลอดภัย 4. กินอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด 5. หากพบสัตว์ป่วยตายผิดปกติ ห้ามชำแหละสัตว์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที 6. หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์
นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวเพิ่มเติมสำหรับประชาชนทั่วไปที่มีความกังวลเกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์ว่ายังสามารถบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัย รู้แหล่งที่มา ได้รับรองอาหารปลอดภัย และควรเลี่ยงการบริโภคเนื้อดิบ ก้อยดิบ ซอยจุ๊ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สายด่วนของกรมควบคุมโรค โทร. 1422
****************************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 7 พฤษภาคม 2568