กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ ประชาชนรักษากับหมอพื้นบ้าน ควรตรวจสอบใบรับรองตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้านพ.ศ. 2562 ออกให้ หวั่นเกิดอันตรายต่อสุขภาพ  หากรักษากับหมอเถื่อน ขณะที่ผู้แอบอ้างโพสต์ข้อความโอ้อวดสรรพคุณ อาจเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง มีความผิดตามกฎหมาย  ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556

นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวถึงกรณีที่มีการโพสต์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์แอบอ้างเป็นหมอพื้นบ้าน สามารถรักษาอาการเจ็บป่วยประชาชนได้ ว่า กรณีดังกล่าว มีประชาชนร้องเรียนมายังกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้มีการตรวจสอบ เนื่องจากปรากฏว่ามีผู้แอบอ้าง สามารถรักษาอาการเจ็บป่วย อวดอ้างสรรพคุณมีภูมิปัญญาโบราณพื้นบ้าน จึงได้มอบหมายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งหาข้อมูล ทำการตรวจสอบให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพราะหากไม่ได้เป็นหมอพื้นบ้านตามที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองนั้นอาจเกิดผลกระทบต่อประชาชนหลงเชื่อไปรับการรักษา ทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง เป็นอันตรายต่อสุขภาพบางรายอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อหมอพื้นบ้านตัวจริง ทำให้คนขาดความเชื่อมั่นในภูมิปัญญาท้องถิ่น 
นายแพทย์สมฤกษ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของหมอพื้นบ้าน จึงได้จัดทำระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้านพ.ศ. 2562 มีการกำหนดคุณสมบัติต่างๆ อย่างเข้มข้น ทั้งอายุ  คุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ความสามารถ มีความชำนาญจากการสืบทอดภูมิปัญหาที่สืบทอดมาต้องไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นที่รู้จักและได้รับยอมรับจากคนในชุมชน ผ่านการเสนอชื่อจากคณะกรรมการหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่นและรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ได้หมอพื้นบ้านตัวจริง 
ดังนั้น หากประชาชนมีความประสงค์รักษาโรคกับหมอพื้นบ้าน ต้องสอบถามให้แน่ใจว่าบุคคลดังกล่าว มีหนังสือรับรองการเป็นหมอพื้นบ้านจากกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่ และหมอพื้นบ้านคนดังกล่าวมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคด้านใด สอดคล้องกับโรคของตนเองที่ต้องการไปรับการรักษาหรือไม่ หรือหากเกิดข้อสงสัยสามารถสอบถามกับแพทย์แผนไทยหรือบุคลากรสาธารณสุขในหน่วยบริการของรัฐได้ทั่วประเทศ หรือติดต่อโดยตรงที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์เฟซบุ๊กและไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ด้าน ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย กล่าวว่า ตามมาตรา 31 แห่ง พระราชบัญญัติวิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2556 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามไม่ให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์หากฝ่าฝืนจะมีความผิด ตามมาตรา 53 และ ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การโฆษณาการรักษา โดยไม่มีใบอนุญาต อาจเข้าข่ายการโฆษณาเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภค และการเผยแพร่เนื้อหาผ่านโซเชียลมีเดีย ในลักษณะการรักษาผ่าน TikTok หรือ Facebook โดยไม่มีใบอนุญาต อาจเข้าข่ายการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการอ้างสรรพคุณในการรักษาโรค หรือ อาการต่างๆ นอกจากนี้ หากมีการเผยแพร่ภาพหรือวิดีโอของผู้ป่วยโดยไม่ได้รับความยินยอม อาจเข้าข่ายการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 16 ซึ่งระบุว่าการนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับความยินยอม ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย 

กรณีมีอาการรุนแรงหรือฉุกเฉิน เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก ควรรีบพบแพทย์แผนปัจจุบัน ไม่ควรเชื่อคำกล่าวอ้างเกินจริง เช่น “รักษาได้ทุกโรค” หรือ “ไม่ต้องไปโรงพยาบาลอีก”หมอพื้นบ้านที่โฆษณาในสื่อโซเชียลมีเดีย ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือก่อน เช่น มีการแสดงใบรับรอง หรือได้รับการแนะนำจากหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งนี้ หมอพื้นบ้านไทย มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะในระดับชุมชน ซึ่งเป็นพลังสำคัญของระบบสุขภาพไทย

...................................................4 พฤษภาคม 2568..............................................



   
   


View 35    04/05/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก