สบยช. เตือนภัยยาเสพติดที่มีชื่อสแลงว่า “ขนม”และ/หรือ “ลาบูบู้” ออกฤทธิ์ทั้งกระตุ้น และหลอนประสาทอย่างรุนแรง อันตรายถึงตาย
- กรมการแพทย์
- 15 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดย ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 3 นครสวรรค์ ยกระดับการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็ง ปากมดลูก โดยให้บริการเชิงรุกใช้รถบริการส่องกล้องขยายปากมดลูกเคลื่อนที่ (Mobile Colposcopy) ในงานมหกรรม Smart Health Smart Life Check Up by PAO เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล นครสวรรค์
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูกถือเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยเป็นมะเร็งที่พบในผู้หญิงในลำดับที่สอง รองจากมะเร็งเต้านมมีอัตราการเกิดโรค 11.1 รายต่อประชากรแสนราย สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) โดยเฉพาะสายพันธุ์ HPV 16 และ 18 พบมากที่สุด ซึ่งสามารถตรวจในระยะก่อนเป็นมะเร็งได้ โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าหมายการตรวจ คัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรี วัย 30 - 60 ปี ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 80 และกลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจคัดกรองที่มีประสิทธิภาพสูงโดยส่องกล้องขยายปากมดลูก (Colposcopy) ซึ่งมีความสำคัญในการวินิจฉัยโรค เนื่องจากสามารถให้ข้อมูลที่ละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งและลักษณะของความผิดปกติที่เกิดขึ้นที่ปากมดลูก ทำให้สามารถระบุระดับความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงเซลล์ และตัดสินใจในการรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในกรณีที่พบความผิดปกติระยะก่อนเกิดมะเร็ง สามารถลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามได้
นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2566 สถิติระดับประเทศ แสดงให้เห็นว่าอัตราการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มสตรีอายุ 30-60 ปี ครอบคลุมเพียงร้อยละ 37.53 และในเขตสุขภาพที่ 3 อยู่ที่ร้อยละ 37.61 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 80 และพบว่า สตรีกลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจด้วยวิธีการส่องกล้องขยายปากมดลูก (Colposcopy) ยังไม่ครอบคลุมและมีความล่าช้า เนื่องจากหน่วยบริการมีเฉพาะในโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลชุมชนที่มีสูตินรีแพทย์และเครื่องมือตรวจเท่านั้น อาจส่งผลให้สตรีกลุ่มเสี่ยงได้รับการดูแลรักษาล่าช้า และเกิดมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามได้
แพทย์หญิงศรินนา แสงอรุณ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ ศูนย์อนามัยที่ 3 นครสวรรค์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 3 นครสวรรค์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการส่องกล้องขยายปากมดลูก (Colposcopy) ในสตรีกลุ่มเสี่ยง ลดระยะเวลารอคอย และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้ารับบริการในโรงพยาบาลประจำจังหวัด โดยให้บริการเชิงรุกใช้รถบริการส่องกล้องขยายปากมดลูกเคลื่อนที่ (Mobile Colposcopy) ตรวจให้กับสตรีกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ และส่งต่อเคสให้กับโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการดูแลรักษาต่อไป โดยเบิกจ่ายผ่านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์มีความสะดวก รวดเร็ว และได้รับการรักษาที่ทันท่วงที
***
กรมอนามัย /24 เมษายน 2568