สบยช. เตือนภัยยาเสพติดที่มีชื่อสแลงว่า “ขนม”และ/หรือ “ลาบูบู้” ออกฤทธิ์ทั้งกระตุ้น และหลอนประสาทอย่างรุนแรง อันตรายถึงตาย
- กรมการแพทย์
- 14 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี ประสานการดำเนินงานร่วมกับทีมระดับจังหวัด เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากสารมลพิษที่เกิดจากไฟไหม้พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม พร้อมทั้งเน้นย้ำสื่อสารให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงในการเฝ้าระวังดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว
นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อเช้าของวันที่ 23 เมษายน 2568 เกิดสถานการณ์ไฟไหม้ภายในพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย ตำบลขุนแก้ว อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยเหตุเพลิงไหม้ลุกลามไปยังโกดังเก็บอุปกรณ์ปั้นหุ่นขี้ผึ้งและหุ่นไฟเบอร์มากกว่า 100 ตัว ซึ่งอาจมีความเสี่ยงของสารมลพิษปนเปื้อนในชุมชน บ้านเรือน และแหล่งน้ำใช้ในชุมชนจากน้ำชะจากการดับเพลิงที่อาจส่งกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่อาศัยโดยรอบ เนื่องจากหุ่นขี้ผึ้งสังเคราะห์ เมื่อเกิดการเผาไหม้อาจก่อให้เกิดสารพิษปนเปื้อนในอากาศ อาทิ สารเบนซีน โทลูอีน สไตรีน ฟอร์มัลดีไฮด์ คาร์บอนมอนอกไซด์และฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน หากสัมผัสหรือสูดดมสารพิษเป็นเวลานานในระดับที่มีความเข้มข้นสูง
“กรมอนามัย มีความห่วงใยผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่เสี่ยง จึงได้มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี เร่งประสานการดำเนินงานร่วมกับทีม SEhRT สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเพื่อดำเนินการดังนี้ 1) ประเมินความเสี่ยงสุขภาพประชาชน สำหรับเตรียมการให้การช่วยเหลือลดความเสี่ยงการรับสัมผัสมลพิษ 2) ประเมินสถานการณ์ทางสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ เพื่อเตรียมสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านการแพทย์และสุขภาพ และเตรียมพร้อมการอพยพประชาชนจากสถานการณ์รุนแรง 3) กรณีพื้นที่กำหนดให้มีศูนย์พักพิงชั่วคราว ให้ทำการเฝ้าระวังด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดการขยะ ส้วมและสิ่งปฏิกูล การประเมินการปนเปื้อนของสารมลพิษในอาหารและน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนที่อพยพในศูนย์ฯ 4) หน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบ เร่งกำหนดมาตรการหรือแนวปฏิบัติด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในสถานที่เสี่ยงประสบภัย และ 5) สื่อสารสร้างการรับรู้แก่ประชาชนที่อยู่ในที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียงที่ในการปฏิบัติตนลดความเสี่ยงทางสุขภาพของตนเองและครอบครัว และให้ติดตามข่าวสาร สถานการณ์การแจ้งเตือนภัยสุขภาพจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
นายแพทย์วิเชียร ตันสุวรรณนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 5 ราชบุรี กล่าวเสริมว่า กรมอนามัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยดูแลและป้องกันความเสี่ยงสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก
หญิงตั้งครรภ์ และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ โดยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น คันที่ผิวหนังอาการไอบ่อย ๆ หายใจลำบาก แน่นหรือเจ็บหน้าอก หัวใจเต้นไม่เป็นปกติ คลื่นไส้ เหนื่อยง่าย หรือเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ผื่นขึ้น ให้รีบพบแพทย์
***
กรมอนามัย / 23 เมษายน 2568