สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เตือนภัย
ยาเสพติด
ที่มีชื่อสแลงว่า “ขนม” และ/หรือ “ลาบูบู้” ออกฤทธิ์ทั้งกระตุ้น และหลอนประสาท เสี่ยงระบบหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ ย้ำผู้ปกครองควรเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา พบการใช้สารเสพติดชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ผู้ใช้หมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งปรากฏว่าสารเสพติดที่มีการตรวจพบเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มผู้ใช้โดยมีชื่อสแลงว่า ขนม”และ/หรือ “ลาบูบู้” มีลักษณะเป็นเม็ดรูปร่างคล้ายอาร์ตทอย (Art Toy)
 ตัวการ์ตูนที่กำลังอยู่ในความสนใจและมีสีสันคล้ายขนม
จากการตรวจพิสูจน์ของ สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พบสาร MDMA หรือ ยาอี (Ecstasy)
ในปริมาณความเข้มข้นสูง ผสมกับ เคตามีน (Ketamine) และคาเฟอีน 
เมื่อมีการเสพเข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์
ทั้งกระตุ้น และหลอนประสาทอย่างรุนแรง ทำให้หมดสติ ชักเกร็งกระตุก ตัวร้อน คลื่นไส้อาเจียน หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตได้ในที่สุด
 

นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)  กล่าวเพิ่มเติมว่า เตือนกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมใช้สารเสพติดเพื่อต้องการให้เกิดอาการมึนเมา
และสนุกสนานมากขึ้นให้ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตนเองให้มาก โดยไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผู้ค้าตั้งใจ
ผสมสารชนิดใดลงไปบ้าง และพึงระลึกไว้เสมอว่าการใช้ยาเสพติดทุกชนิดมีอันตราย ส่งผลต่อร่างกายของผู้เสพ รวมถึงเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงและอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ การใช้
สารเสพติดที่ผสมยาเสพติดเข้าไปหลายชนิดนอกจากจะทำให้แพทย์รักษายากแล้ว ยังมีโอกาสที่ทำให้เสียชีวิตมากยิ่งขึ้นและขอฝากถึงกลุ่มผู้ปกครองควรหมั่นติดตามข่าวสารต่างๆ ช่วยกันสอดส่องและแจ้งเบาะแส สังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานหรือคนในครอบครัว หากพบมีพฤติกรรมเสี่ยง หรือพบสิ่งของที่เข้าข่ายต้องสงสัย ต้องรีบเข้าไปพูดคุยด้วยเหตุผลไม่ใช้ความรุนแรง บอกกล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพรวมถึงอันตรายที่จะตามมา โดยสามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติด ได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด
1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จ.ปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง

                                          *************************************************

      #กรมการแพทย์  #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี #สบยช. #ขนม# Art Toy

                                                                                       -ขอขอบคุณ-      24  เมษายน  2568

 



   


View 20    24/04/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์