กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยถังน้ำมัน ถังเก็บสารเคมี บ่อบำบัดน้ำเสีย อุโมงค์ระบายน้ำ อุโมงค์รถไฟ ห้องใต้ดิน ไซโลเก็บเมล็ดพืช หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน เป็นพื้นที่อับอากาศต้องระวัง แนะผู้ประกอบกิจการ และผู้ปฏิบัติงาน ควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ 8 ประการ เช่น การตรวจวัดก๊าซพิษ ตรวจระบบไฟฟ้า ก่อนเข้าปฏิบัติงาน เพื่อความปลอดภัย
            นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีการเสียชีวิตของผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบกิจการผลิตปลาร้าในจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยคาดว่าอาจเกิดจากการได้รับก๊าซไข่เน่า หรือ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่ไม่มีสี กลิ่นคล้ายไข่เน่า และเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก อาการเบื้องต้น เมื่อสูดดมก๊าซไข่เน่าในระดับความเข้มข้นต่ำถึงปานกลาง จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา ตาแดง น้ำตาไหล เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และมีปัญหาการหายใจ แต่หากได้รับในระดับความเข้มข้นสูงถึงสูงมาก จะสูญเสียการรับรู้กลิ่น หมดสติ ปอดบวม ระบบหายใจล้มเหลว และอาจเสียชีวิตได้ โดยที่ความเข้มข้นระดับมากกว่า 200 ppm ไฮโดรเจนซัลไฟด์ จะยับยั้งขบวนการหายใจโดยใช้ออกซิเจนที่ระดับเซลล์ และไปทำปฏิกิริยากับฮีโมโกบินในเลือด อาจส่งผลให้เลือดเป็นสีเขียวได้ โดยในการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงที่เป็นพื้นที่อับอากาศต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสุขภาพและสุขอนามัยเป็นสำคัญ ตัวอย่างของพื้นที่อับอากาศ อาทิเช่น ถังน้ำมัน ถังเก็บสารเคมีบ่อบำบัดน้ำเสีย อุโมงค์ระบายน้ำ อุโมงค์รถไฟ ห้องใต้ดิน ไซโลเก็บเมล็ดพืช เจ้าของกิจการควรมีมาตรการและกำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำสำคัญ 8 ประการ ดังนี้ 1) วางแผนการทำงานและการป้องกันอันตรายควบคุมดูแลผู้ปฏิบัติงาน ชี้แจงหน้าที่ วิธีทำงานการป้องกันอันตรายให้ผู้ที่ต้องเข้าไปทำงานในพื้นที่เสี่ยงทราบ2) ประเมินสุขภาพของเจ้าหน้าที่ที่ต้องลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศก่อน หากพบว่ามีอาการป่วย บาดเจ็บ หรือร่างกายอ่อนเพลีย ควรหลีกเลี่ยงการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน และให้เปลี่ยนเป็นเจ้าหน้าที่อื่นที่มีความพร้อมของร่างกายแทน 3) ขณะปฏิบัติงานให้จัดทำป้าย “พื้นที่ที่อับอากาศ พื้นที่เสี่ยง พื้นที่อันตราย ห้ามเข้า” ติดไว้ที่บริเวณหน้าทางเข้า – ออก และต้องมีระบบการขออนุญาตก่อนเข้าทำงานทุกครั้ง 4) ตรวจสอบระบบไฟฟ้า อุปกรณ์ สวิตช์ไฟต่าง ๆ ให้ใช้งานได้ปกติ ไม่มีสายไฟขาดหรือชำรุด และควรมีระบบตัดไฟอัตโนมัติหากเกิดกรณีไฟฟ้าช็อต หรือไฟฟ้ารั่วในพื้นที่ทำงาน
              นายแพทย์ธิติ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นที่สำคัญ คือ 5) การตรวจวัดก๊าซพิษ ก๊าซติดไฟและปริมาณก๊าซออกซิเจนต้องอยู่ระหว่าง 19.5 – 23.5 เปอร์เซ็นต์ ก่อนลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศทุกครั้ง และต้องกำหนดระยะเวลาปฏิบัติงานต่อคนที่ชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิตหรือหมดสติในขณะปฏิบัติงาน 6) ต้องมีระบบหรือกลไกการแจ้งขอความช่วยเหลือกรณีเจ้าหน้าที่ประสบเหตุในพื้นที่อับอากาศ และต้องมีผู้ควบคุม และมีผู้ช่วยเหลืออยู่ประจำบริเวณทางเข้า – ทางออก ตลอดเวลาที่มีการทำงาน โดยผู้ควบคุม และผู้ช่วยเหลือต้องมีความรู้ในการป้องกันตนเอง ขณะลงไปช่วยเหลือผู้ประสบเหตุด้วย 7) จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล Personal Protective Equipment (PPE) อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสม และ 8) ผู้ที่จะต้องเข้าไปทำงานในที่อับอากาศมีลักษณะงานที่เสี่ยงต่อการได้รับหรือสัมผัสอันตรายจะต้องผ่านการอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ 
              “สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในการพิจารณาอนุญาตในการประกอบกิจการประเภทดังกล่าว ควรต้องมีการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบสถานประกอบกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานและถูกสุขลักษณะ ก่อนการออกใบอนุญาตและต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการทุกครั้ง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***


          กรมอนามัย / 12 ธันวาคม 2567



   
   


View 28    12/12/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย