กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบผู้ประกอบการเครื่องสำอางไทย สร้างเครือข่ายความร่วมมือ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ ยกระดับวงการอุตสาหกรรมเครื่องสำอางให้ก้าวสู่มาตรฐานสากล
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 26 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (12 ธันวาคม 2567) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวสุนทรพจน์ ภายใต้หัวข้อ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับการส่งเสริมสุขภาพ: มุมมองและนโยบายของประเทศไทย” (UHC and Health Promotion: Thailand’s Perspectives and Policies) โดยได้แลกเปลี่ยนความสำเร็จของประเทศไทยในการส่งเสริมสุขภาพภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การบรรจุมาตรการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่สำคัญ
โดยมี นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต้อนรับ และนายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวเปิดการประชุมกิจกรรมเฉลิมฉลองวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ประจำปี 2567 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 12 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล เพื่อสร้างความตระหนักถึงความจำเป็นในการมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็งและยืดหยุ่น รวมถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยความร่วมมือจากพันธมิตรหลากหลายภาคส่วน
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เพื่อร่วมสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับการส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัยมีความยินดีที่จะนำเสนอประสบการณ์ของประเทศไทย ไม่ว่ตาาจะเป็นนโยบาย ความสำเร็จ และบทบาทสำคัญของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในการสร้างความเสมอภาคด้านสุขภาพสำหรับทุกคน
ความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อการส่งเสริมสุขภาพปรากฏชัดเจนในนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่เน้นการดูแลสุขภาพเชิงรุก การเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน และการเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างถ้วนหน้า โครงการสำคัญ เช่น "มหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต" ซึ่งปัจจุบันขยายต่อเนื่องเป็น 2,500 วัน "เมืองสุขภาพดี"
การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ และเวชศาสตร์วิถีชีวิต ล้วนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและการป้องกันโรคมากกว่าการรักษาโรค โครงการเหล่านี้มุ่งเน้นให้สุขภาพเริ่มต้นที่ระดับบุคคลและชุมชน สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างเสริมสุขภาพตลอดช่วงชีวิต (Life-Course Approach)
กองทุนสุขภาพชุมชน ช่วยเสริมพลังหน่วยงานท้องถิ่นในการออกแบบโครงการที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน โดยหลายชุมชนได้นำกองทุนนี้ไปใช้ดำเนินโครงการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม เช่น การปรับปรุงคุณภาพน้ำและอากาศ นำไปสู่สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ความพยายามเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวมช่วยยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนได้
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จเหล่านี้ ประชาชนชาวไทยทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้ผ่านชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น การฝากครรภ์คุณภาพ การตรวจคัดกรองสุขภาพ การฉีดวัคซีน การดูแลสุขภาพช่องปาก และการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ การเพิ่มการเข้าถึงบริการเหล่านี้ช่วยยกระดับคุณภาพการดูแลสุขภาพ ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคและตรวจพบโรคได้ในระยะเริ่มต้น และช่วยชีวิตผู้คนได้มากมาย นอกจากนี้ยังทำให้บริการส่งเสริมสุขภาพที่มีคุณภาพเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย
ตั้งแต่ประเทศไทยริเริ่มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเป็นทางการในปี 2545 ประเทศไทยมีผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2559 ประเทศไทยสามารถยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกได้ เป็นประเทศแรกในเอเชียและประเทศที่สองของโลก อัตราการเสียชีวิตของมารดาลดลงจาก 43 คน ต่อการเกิดมีชีพ 100,000 คน ในปี 2543 เหลือเพียง 20 คน ในปี 2565 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้ อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลงจาก 22 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน เหลือ 7.6 คน ในช่วงเวลาเดียวกัน
ความสำเร็จเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากขาดความมุ่งมั่นทางนโยบายที่เข้มแข็งและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุข การบูรณาการมาตรการป้องกันโรคและการส่งเสริมสุขภาพเข้าในชุดสิทธิประโยชน์ยังช่วยลดภาระของโรคและส่งเสริมให้ชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ได้ขับเคลื่อนการแพทย์แบบแม่นยำ (precision medicine) และการแพทย์เฉพาะบุคคล (individualized medicine) ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทยก็ได้ตอบสนองต่อความก้าวหน้าในด้านนี้ โดยปัจจุบันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ให้บริการการแพทย์แบบแม่นยำสำหรับผู้ที่มีข้อบ่งชี้เฉพาะ เช่น การตรวจพันธุกรรมมะเร็งเต้านม และโรคอื่นๆ ประเทศไทยมีวิสัยทัศน์ที่จะขยายแนวทางนี้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของการส่งเสริมสุขภาพที่มีคุณภาพ ซึ่งจะเป็นเส้นทางสู่ยุทธศาสตร์ส่งเสริมสุขภาพที่เหมาะกับแต่ละบุคคลในอนาคต
โดยสรุป หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหนทางสู่การส่งเสริมสุขภาพที่มีคุณภาพ ทำให้มีการเข้าถึงบริการอย่างเสมอภาค และสร้างเสริมชุมชนที่มีสุขภาพดี อีกทั้งยังเป็นหนทางที่สำคัญสู่การส่งเสริมสุขภาพอย่างมีคุณภาพ
ความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากนโยบายของรัฐบาลที่ต่อเนื่อง และการมุ่งเน้นการดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิอย่างยั่งยืน
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่เพียงนโยบายด้านสุขภาพ แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ใช่สิทธิพิเศษ เป็นพลังที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น และส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพให้กับทุกคนในประเทศไทย