กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ ภาคเอกชน ยกระดับมาตรฐานตรวจวิเคราะห์ไมทราไจนีน สนับสนุนกระท่อมไทยสู่ตลาดโลก
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 20 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ย่านบางซื่อ เฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากกากแคดเมียม พร้อมให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ แนะนำแนวทางปฏิบัติตัว หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองหลอดลม มีประวัติการสัมผัสหรือเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยงทันที
วันนี้ (11 เมษายน 2567) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่เฝ้าระวังสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากกากแคดเมียม กรณีตรวจพบกากแคดเมียมในโรงงานแห่งหนึ่งย่านบางซื่อ น้ำหนักประมาณ 150 ตัน มีคนงานทำงานในโรงงาน 22 คน ซึ่งอาจจะสัมผัสใกล้ชิด ขณะนี้สำนักงานเขตบางซื่อได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่อันตราย ห้ามอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการในพื้นที่ที่กำหนด เนื่องจากเป็นสารอันตรายส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
นายแพทย์อภิชาต กล่าวว่า กรมควบคุมโรค โดยกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เร่งค้นหาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตรวจคัดกรองสุขภาพ และตรวจหาสารแคดเมียมในปัสสาวะของประชาชนเพิ่มเติม พร้อมทั้ง ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ เช่น ความรู้ทั่วไป อันตราย และวิธีการป้องกัน รวมถึงการปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมให้คำปรึกษาและศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
สารแคดเมียม เป็นแร่โลหะหนักชนิดหนึ่ง ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน เช่น ใช้ฉาบและเคลือบเงาผิวโลหะต่างๆ เพื่อความเงางาม ทนต่อการกัดกร่อน ผลิตแบตเตอรี่ขนาดเล็ก เป็นต้น สามารถพบแคดเมียมปนเปื้อนได้ในอาหาร น้ำ รวมทั้งพบแคดเมียมในสีที่ผสมใช้กับบ้านหรืออาคาร เมื่อร่างกายได้รับสารแคดเมียมเข้าไป จะมีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง สามารถทำให้เกิดอาการแบบเฉียบพลัน ได้แก่ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองหลอดลม จมูก และคอ เป็นต้น หลังจากการรับสัมผัสเป็นระยะเวลานานจะก่อให้เกิดพังผืดที่ปอด พิษต่อไต โรคกระดูก หรือที่รู้จักกันในโรคอิไต อิไต และก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้
“เนื่องจากกากแคดเมียมดังกล่าว ส่วนใหญ่ เก็บไว้ในถุงขนาดใหญ่ในโรงงานมิดชิด ประชาชนทั่วไปจึงมีความเสี่ยงน้อยที่สัมผัสหากไม่ได้ทำงานในโรงงาน หรือเตาหลอมโลหะ แต่จะสัมผัสจากการฟุ้งกระจาย ไปติดตามพื้นบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งฟุ้งไปไม่ไกล ซึ่งประชาชนในพื้นที่สามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยมาตรการ ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ใช้การดูดฝุ่นหรือผ้าชุบน้ำเช็ด ทำความสะอาดแทนการกวาดบ้าน และหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนรับประทานอาหารและดื่มน้ำ ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงควรสังเกตอาการตนเองหรือหากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ระคายเคืองหลอดลม มีประวัติเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยงทันที” นายแพทย์อภิชาต กล่าว
ทั้งนี้ ถ้าเป็นคนงานที่ปฏิบัติงานในโรงงานที่มีกากแคดเมียมต้องสวมชุด และหน้ากากป้องกันตัวตามมาตรฐาน สำหรับประชาชนทั่วไป ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่รอบข้าง ควรปฏิบัติตัวดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการเข้าไปในเขตพื้นที่โรงงาน หรือพื้นที่ที่พบแคดเมียม 2.หากมีการสูดดมไอระเหยจากการหลอมเข้าไป ให้รีบไปอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศบริสุทธิ์ 3.หากผงฝุ่นเข้าตา รีบล้างด้วยน้ำสะอาดและพบจักษุแพทย์ 4.หากเผลอกลืนกิน รีบดื่มน้ำตามทันที อย่างน้อย 2 แก้ว และ 5. หากมีอาการผิดปกติ รีบปรึกษาแพทย์ทันที ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
****************************
ข้อมูลจาก : กองโรคจากการประกอบอาชีพฯ/สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 11 เมษายน 2567