รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดมหกรรมสุขภาพดี ที่เพชรบูรณ์ ผลักดันเป็น Healthy Cities MODELs ของเขตสุขภาพที่ 2 ด้านกรมอนามัย กรมการแพทย์แผนไทยฯ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เดินหน้ายกระดับงานสุขาภิบาลอาหาร สถานประกอบการ พัฒนาผลิตภัณฑ์/สมุนไพรพื้นถิ่น ศูนย์เวลเนส เชื่อมโยงธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ช่วยสร้างรายได้ชุมชน สร้างเศรษฐกิจประเทศ

      วันนี้ (26 มกราคม 2567) ที่ หอประชุม 50 ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดมหกรรมสุขภาพดี ที่เพชรบูรณ์ (Good Health @Phetchabun) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 - 26 มกราคม 2567 โดยมี พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารจังหวัดเพชรบูรณ์และภาคีเครือข่าย ร่วมงาน โดยมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ ครัวดนตรี (Chef’s Table) สาธิตทำอาหารพื้นบ้านเพื่อสุขภาพด้วยวัตถุดิบของดีเมืองเพชรบูรณ์ นิทรรศการมหกรรมสุขภาพดี ประกวดอาหารสุขภาพดี วิถีคนสุขภาพดี “อาหารไทยถิ่น กินเป็นยา” เป็นต้น

       นายสันติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศและสร้างงานให้กับประชาชน โดยผลักดันการพัฒนาเมืองต้นแบบสุขภาพ (Healthy Cities MODELs) “เมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน คนอายุยืน” เป็นต้นแบบพื้นที่อายุยืน (Blue Zone) ในทุกจังหวัด มุ่งเน้นให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการกินดี อยู่ดี เพิ่มมูลค่าชุมชน รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ปัจจุบัน มีชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น Healthy Cities MODELs แล้ว 20 ชุมชน โดยในส่วนจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของเขตสุขภาพที่ 2 ได้ขับเคลื่อน Healthy Cities MODELs อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกชุมชนต้นแบบ และยังมีอำเภอสุขภาพดีอีกจำนวน 10 แห่ง ซึ่งจะเร่งขยายให้ครอบคลุมทุกอำเภอต่อไป

      “มหกรรมสุขภาพดี ที่เพชรบูรณ์ ครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่จะกระตุ้นการขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ในการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ รวมทั้งสนับสนุนงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำให้สามารถจัดบริการที่ดี มีคุณภาพและความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนในพื้นที่” นายสันติกล่าว

     พญ.อัจฉรา กล่าวว่า กรมอนามัย มีการดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โดยขับเคลื่อนงานสุขาภิบาลอาหารภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ SAN และ SAN Plus (Sanitation, Anamai, Nutrition) “สะอาด ปลอดภัยได้มาตรฐาน” เพื่อยกระดับมาตรฐานสถานประกอบการด้านอาหาร ประเภทสถานที่จำหน่ายอาหาร ตลาด สถานที่สะสมอาหาร การจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะในพื้นที่ท่องเที่ยว ให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านการสุขาภิบาลอาหาร มีศักยภาพในการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว และสร้างความเชื่อมั่นต่อการให้บริการด้านอาหารแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองรอง ที่มีสถานประกอบการได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ ซึ่งได้รับมอบป้าย SAN Certificate ทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ ตลาดสด ตลาดนัด สถานที่จำหน่ายอาหาร สถานที่สะสมอาหาร และอาหารริมบาทวิถี รวมทั้งได้มอบป้ายเมนูชูสุขภาพให้กับสถานประกอบการด้วย โดยในงานมีการโชว์เมนูชูสุขภาพที่มีส่วนประกอบของมะขามหวาน ของดีเมืองเพชรบูรณ์ และมีการนำวัตถุดิบสมุนไพรท้องถิ่น สมุนไพรพื้นบ้าน มาเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อเป็นเมนูชูสุขภาพอีกด้วย

        นพ.ยงยศ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP/SMEs) ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง สมุนไพร โดยมีการมอบตราสัญลักษณ์ DMSc product ให้กับสินค้านวัตกรรม เพื่อแสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ในการรับรองความปลอดภัยและคุณภาพ เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และสามารถจัดจำหน่ายได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น เช่น ห้างสรรพสินค้า ห้างดิวตี้ฟรีชอป เป็นต้น โดยมีการมอบประกาศ DMSc product ให้กับผู้ประกอบการที่ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 8 ราย รวมทั้งนำเสนอองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เพื่อยกระดับและกระตุ้นเศรษฐกิจของพืชและสมุนไพรพื้นถิ่น เช่น มะขาม การใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชในการเพิ่มและอนุรักษ์พันธุ์พืชที่สำคัญของพื้นที่ นอกจากนี้ ได้มอบปลอกแขนเขียวให้กับ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ที่ผ่านการอบรมพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปฏิบัติงานในการตรวจคัดกรองอาหาร ยา เครื่องสำอาง และตรวจคัดกรองโรคเบื้องต้นในชุมชน จำนวน 50 คน จาก 11 อำเภอ และจัดรถ mobile ให้บริการเก็บตัวอย่าง HPV self-sampling เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้กับประชาชน

       ด้าน นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ต่อยอดการพัฒนา “ศูนย์เวลเนส” ที่มี 5 ประเภท ได้แก่ 1.ที่พักนักท่องเที่ยว (โรงแรม/รีสอร์ท) 2.ภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3.ร้านนวดเพื่อสุขภาพ 4.สปาเพื่อสุขภาพ และ 5.สถานพยาบาล ให้เป็น “ศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย (TWD)” ที่มีการนำอัตลักษณ์ไทยและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นมาผสมผสานกับองค์ความรู้การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน สมุนไพร และการแพทย์ทางเลือก เชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยจังหวัดเพชรบูรณ์มีศูนย์เวลเนส 11 แห่ง ได้รับการรับรองแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ 1.เบสทินี่ รีสอร์ท 2.ชิค รีสอร์ท 3.รพ.สต.หนองคัน อีก 8 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการออกใบรับรอง และมีแผนจะรับรองเวลเนสอัตลักษณ์ไทย 4 แห่ง โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอรับการประเมินและสอบถามข้อมูลได้ที่ กองการแพทย์ทางเลือก กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 02 591 7007 ต่อ 2603 นอกจากนี้ ยังมีการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้สถานประกอบการและประชาชนนำสมุนไพรท้องถิ่นนำมาประกอบอาหารเป็นยา เพื่อป้องกันโรคและบำรุงสุขภาพ เช่น แกงหวาย น้ำกระชาย คลอโรฟิลฯ รวมทั้งสนับสนุนให้สถานพยาบาลนำสมุนไพรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพในการป้องกันและรักษาโรค เช่นที่ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชหล่มเก่า มีการผลิตชา Bye DM จากสมุนไพร 4 ชนิด คือ ตำลึง ใบเตย กระเพรา และมะระขี้นก สำหรับใช้ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเบาหวานและกลุ่มเบาหวานระยะเริ่มต้น



***

26 มกราคม 2567

 



   
   


View 182    26/01/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ