วันนี้ (8 พฤษภาคม 2568) แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย พร้อมด้วย ดร. ชานัน ติรณะรัต ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ยอดสุดใจ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  นายแพทย์ สกล สุขพรหม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว ความสำเร็จของความร่วมมือในการบำบัดยาปฏิชีวนะในน้ำเสียโรงพยาบาล “โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้นวัตกรรมในการบำบัดยาปฏิชีวนะในน้ำเสีย" โดยมี นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย นางณีรนุช อาภาจรัส ผู้อำนวยการสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม นายสุชาติ สุขเจริญ รองผู้อำนวยการสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ ผู้บริหาร บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กรมควบคุมมลพิษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมงาน

         นนทบุรี – 8 พฤษภาคม 2568  -  5 หน่วยงานหลักประกอบด้วย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พาชมต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบำบัดยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นกลุ่มยาหลักของยาต้านจุลชีพในน้ำเสีย ณ ระบบบำบัดน้ำเสีย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

          การดื้อยาต้านจุลชีพ ถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ภัยคุกคามต่อสุขภาพโลก  เป็นประเด็นท้าทายเพราะเป็นวิกฤติร่วมของทุกประเทศทั่วโลก ในปี 2562 ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพสูงถึง 4.95 ล้านคน ในจำนวนนี้ มีผู้เสียชีวิตโดยตรงจากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประมาณปีละ 1.27 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ในปี 2558 สมัชชาอนามัยโลกได้รับรองแผนปฏิบัติการ “การดื้อยาต้านจุลชีพ” และขอให้ประเทศสมาชิกจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ  ในปี 2563 องค์การสหประชาชาติได้บรรจุเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพให้เป็นตัวชี้วัดภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือที่ SDG (Sustainable Development Goal) ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่แผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ซึ่งในแผนฯ การดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย หมายถึง การดื้อยาต้านจุลชีพของเชื้อแบคทีเรีย หรือยาต้้านแบคทีีเรีีย หรืือยาปฏิิชีีวนะ

         กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงร่วมมือกันและมอบให้  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาโครงการ“การบำบัดยาปฏิชีวนะในน้ำเสียโรงพยาบาลโดยใช้กระบวนการร่วมระหว่างโอโซนและถ่านกัมมันต์ที่ดัดแปรพื้นผิว” งานวิจัยได้พัฒนาระบบนวัตกรรมต้นแบบการบำบัดยาปฏิชีวนะในน้ำเสีย โดยติดตั้งระบบต้นแบบที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า นำน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดด้วยระบบบำบัดทางชีวภาพ เข้าสู่ระบบโอโซนและถังกรองถ่านกัมมันต์ที่ดัดแปรพื้นผิว รองรับน้ำเสียได้สูงสุด 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สามารถลดการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะออกสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่าร้อยละ 90  ค่าใช้จ่ายไม่เกิน 4 บาทต่อลูกบาศก์เมตร  นอกจากนี้นักวิจัยได้พัฒนาวิธีในการวิเคราะห์ยาปฏิชีวนะแต่ละกลุ่มทำให้การตรวจสอบได้ง่ายและราคาไม่แพง

       แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า “กรมอนามัยจึงเห็นความสำคัญของการจัดการต้นทาง คือ การลดการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ จะทำให้เชื้อดื้อยาจุลชีพลดลง  ซึ่งส่งผลต่อการติดเชื้อลดลง ลดอัตราการตาย ลดค่ารักษาพยาบาล ประชาชนมีสุขภาพดี ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเพิ่มขึ้น”

      ดร. ชานัน ติรณะรัต ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ  กล่าวว่า “กลุ่มยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะมีหลายประเภทและแต่ละประเภทมีสารเคมีหลายชนิดเป็นองค์ประกอบ ระบบบำบัดทางชีวภาพสามารถบำบัดได้เพียงบางส่วน จึงปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม การวิจัยถึงวิธีการบำบัดยาปฏิชีวนะน้ำเสียจึงสำคัญโดยเฉพาะน้ำเสียจากโรงพยาบาล”  

        ศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ยอดสุดใจ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ เราได้คิดค้นเทคโนโลยีสำหรับน้ำเสียโรงพยาบาลที่สามารถบำบัดยาปฏิชีวนะได้มากกว่าร้อยละ 90 ดูแลง่าย และราคาไม่แพง นับเป็นนวัตกรรมที่มีความปลอดภัยสามารถขยายผลงานวิจัยเชิงปฏิบัติการได้เป็นอย่างดี”  

       นายแพทย์ สกล สุขพรหม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า “โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชน และพร้อมเป็นแหล่งเรียนรู้นวัตกรรมต้นแบบการบำบัดยาปฏิชีวนะให้แก่สถานพยาบาลทั่วประเทศ”

       ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “เชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นวิกฤติร่วมของทุกประเทศ การพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบำบัดยาปฏิชีวนะถือเป็นก้าวแรกของความร่วมมือในการบำบัดยาปฏิชีวนะในน้ำเสียโรงพยาบาล เพื่อลดเชื้อดื้อยาจุลชีพในสิ่งแวดล้อม”  

 



   
   


View 31    08/05/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมอนามัย