รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการเสียชีวิตของนายศักรินทร์ อายุ 17 ปี ที่บิดาสงสัยว่าเกิดจากแพทย์ ร.พ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ทำฟันปลอมหลุดลงคอขณะใส่ท่อช่วยหายใจ ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยแพทย์ช่วยชีวิตเต็มความสามารถ โดยก่อนจะใส่ท่อช่วยหายใจ พบฐานฟันเทียมที่ไม่มีฟัน 4 ซี่หน้าอยู่ในปากอยู่แล้ว แนะประชาชนใส่ฟันเทียมกับทันตแพทย์ และทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ตามที่มีข่าว นายศักดิ์รินทร์ วงศ์ศรีฑา อายุ 17 ปี อยู่บ้านเลขที่ 63 หมู่ 3 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา หน้ามืดเป็นลมขณะรับประทานอาหารเย็นที่บ้าน ญาตินำตัวส่งโรงพยาบาลบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และเสียชีวิต โดยบิดาเชื่อว่าสาเหตุเกิดจากแพทย์โรงพยาบาลรักษาผิดพลาด ทำฟันปลอมหลุดเข้าไปติดหลอดลม จนทำให้บุตรชายขาดอากาศหายใจ เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายแพทย์มรกต กรเกษม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ต้องรอผลการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าว ว่าฟันปลอมติดหลอดลมหรือว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุทาหรณ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ได้ตระหนักถึงการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวทันที เพื่อให้ความกระจ่างแก่สาธารณชน และให้ความเป็นธรรมกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและแพทย์ผู้ให้การรักษา ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากนายแพทย์ณัฐพล สว่างสุนทรเวศย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางบาล ว่า ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับแพทย์ผู้ให้การรักษานายศักดิ์รินทร์ โดยรับผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉิน เมื่อเวลา 19.20 น. วันที่ 7 เมษายน 2550 แรกรับผู้ป่วยไม่หายใจ ปลายมือปลายเท้าเขียว ตรวจวัดสัญญาณชีพไม่ได้ ชีพจรไม่เต้น เมื่อแพทย์เปิดปากผู้เสียชีวิตเพื่อเตรียมใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่เห็นฟัน 4 ซี่หน้า แต่เห็นฐานฟันปลอมอยู่ในปากจำนวน 1 ชิ้น จึงหยิบออกมา และใส่ท่อช่วยหายใจ และได้พยายามกู้ชีพผู้ป่วยนาน 40 นาที แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ แพทย์ผู้รักษาได้ทำการรักษาตามหลักวิชาการอย่างสุดความสามารถ ซึ่งตามมาตรฐานก่อนช่วยชีวิตโดยใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะต้องดูว่ามีฟันปลอมหรือไม่ทุกครั้ง โดยรายนี้ได้ส่งศพไปสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ร.พ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อหาสาเหตุการตายที่แท้จริง ด้านทันตแพทย์สมนึก ชาญด้วยกิจ ทันตแพทย์ 10 ที่ปรึกษากรมอนามัย กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงคงต้องรอผลการชันสูตรจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่กรณีนี้ถือเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่ใส่ฟันปลอมหรือฟันเทียมมีความระมัดระวังมากขึ้น เนื่องจากฟันเทียมมี 2 ชนิด คือแบบชั่วคราวและแบบถาวร โดยแบบชั่วคราวจะทำด้วยฐานพลาสติก สามารถถอดได้ ใช้ระหว่างรอการทำฟันเทียมชนิดถาวร ประสิทธิภาพการใช้งานประมาณ 70–80 เปอร์เซ็นต์ของฟันจริง จึงควรมาเปลี่ยนเป็นชนิดถาวรตามแพทย์แนะนำ ไม่ควรใส่นานเกิน 4–5 ปี เพราะจะหลวมหลุดได้ง่าย ไม่กระชับกับเหงือกเหมือนกับฟันเทียมชนิดถาวร ซึ่งมีหลายแบบทั้งชนิดยึดติดแบบถาวรกับฟันข้างเคียง หรือชนิดที่มีรากฟันเทียม และชนิดที่มีลักษณะเป็นโครงโลหะ ถอดได้ จะมีความกระชับ ยึดติดกับเหงือกได้ดีกว่า และประสิทธิภาพการใช้งานใกล้เคียงฟันจริง อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่ใส่ฟันเทียมอยู่แล้วอย่าวิตกกังวล ว่าฟันที่ใส่อยู่จะหลุดลงลำคอ แต่ขอให้ดูแลระมัดระวัง คอยสำรวจดูว่าฟันชนิดถอดได้ที่ใส่อยู่หลวมหรือไม่ เช่น ใช้ลิ้นดุนแล้วหลุดออกได้ง่าย ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อแก้ไขปรับให้พอดี เวลานอนควรถอดออกและล้างทำความสะอาด ทั้งนี้ การใส่ฟันเทียมควรระมัดระวังการขบเคี้ยวของแข็งหรือชิ้นใหญ่เกินไป โดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัว เช่น เป็นโรคลมชัก หน้ามืดเป็นลมง่าย ควรใส่ฟันเทียมถาวรชนิดติดแน่นจะปลอดภัยกว่า และการทำฟันเทียมควรทำกับทันตแพทย์เท่านั้น อย่าทำกับร้านที่ขึ้นป้ายทำฟันทั่วไปที่ไม่มีทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ********************** 9 เมษายน 2550


   
   


View 17    09/04/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ