รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 24 “สุขภาพจิตดี สังคมอ่อนโยน...ไร้ความรุนแรง” (Mental Health for Gentle Society) เผย ประชากรทั่วโลกประมาณ 1 ใน 8 มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ขณะที่สถานการณ์ของไทย ปี 2567 พบผู้ถูกกระทำความรุนแรงเฉลี่ยวันละ 42 ราย โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว 

             วันนี้ (1 กรกฎาคม 2568) ที่ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 24 ประจำปี 2568  เรื่อง “สุขภาพจิตดี สังคมอ่อนโยน...ไร้ความรุนแรง” (Mental Health for Gentle Society) โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต คณะผู้บริหาร และผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศไทยและต่างประเทศ เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน  

             นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งภาวะซึมเศร้า ความเครียดสูง เสี่ยงฆ่าตัวตาย รวมถึงมีผู้ถูกกระทำจากความรุนแรงจำนวนมาก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า ประชากรทั่วโลกกว่า 970 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 8 มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหา จึงได้ผลักดันให้สุขภาพจิตที่ดีเป็นวาระแห่งชาติ และกำหนดให้เดือนพฤษภาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งสุขภาพใจ และกระทรวงสาธารณสุขยังได้กำหนดให้การเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและบำบัดยาเสพติดเป็นหนึ่งในนโยบายมุ่งเน้น เพื่อส่งเสริมให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไร้ความรุนแรง

             ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น โดยปี 2567 พบผู้ถูกกระทำความรุนแรง เฉลี่่ยวันละ 42 ราย โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัวที่มีจำนวนผู้ถูกกระทำมากถึง 4,833 ราย สาเหตุหลักมาจากยาเสพติดและปัญหาสุขภาพจิต การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 24 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2568 นี้ จึงกำหนดหัวข้อ “สุขภาพจิตดี สังคมอ่อนโยน...ไร้ความรุนแรง” (Mental Health for Gentle Society) เพื่อให้บุคลากรด้านสุขภาพ นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิต และเครือข่ายสุขภาพจิต ระบบบริการสุขภาพ และภาคีสังคม ทั้งในและต่างประเทศ ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้สุขภาพจิตที่ทันสมัย แลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ นวัตกรรมใหม่ด้านสุขภาพจิตและจิตเวช รวมทั้งเผยแพร่ผลงานวิชาการ ส่งผลให้การพัฒนางานวิชาการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชมีความก้าวหน้า เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและผู้รับบริการมากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูเกียรติแก่บุคคลและเครือข่ายที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานสุขภาพจิตด้วย 

*********************** 1 กรกฎาคม 2568
 



   
   


View 251    01/07/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ