คกก.อำนวยการจัดทำตำรับยาแผนไทยแห่งชาติ เห็นชอบปรับปรุงรายการตํารับยาฯ ฉบับใหม่ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ประเทศ
- สำนักสารนิเทศ
- 266 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้ายกระดับระบบบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ปี 2568 พร้อมเผยแผนพัฒนา 3 ระยะ พัฒนาบุคลากร - ขยายบริการ - สร้างความยั่งยืน มุ่งเป้าหมายเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดภาระงานบุคลากร และส่งเสริมประเทศไทยสู่ศูนย์กลางสุขภาพ Medical & Wellness Hub
วันนี้ (22 ก.ค. 2568) ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการหุ่นยนต์ทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมีนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ ให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี สะดวกและปลอดภัย ผ่านการยกระดับบริการด้วยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ทางการแพทย์และเทคโนโลยีสุขภาพ เช่น หุ่นยนต์ทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่แม่นยำและปลอดภัย ช่วยลดความผิดพลาดและภาวะเเทรกซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจสุขภาพ สู่ Medical & Wellness Hub โดยมีแผนในการพัฒนา 3 ระยะ คือระยะที่ 1 ปี 2568 - 2570 พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มนำร่อง กำหนดมาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติ โดยจะดำเนินการในโรงพยาบาลนำร่อง 5 ภาค ระยะที่ 2 ปี 2571 - 2572 ขยายผลการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ไปยังโรงพยาบาลที่มีความพร้อม และระยะที่ 3 ปี 2573 เป็นต้นไป ประเมินผลลัพธ์ ปรับปรุงระบบ และสร้างความยั่งยืนในการใช้เทคโนโลยี
นายสมศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินงานการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญความเป็นเลิศ (Excellent center) มุ่งเน้นการจัดบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพในสาขาเฉพาะทาง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งการเพิ่มศักยภาพศูนย์เชี่ยวชาญด้วยการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพการรักษาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วย ยังเพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของบุคลากร ลดภาระงานที่เป็นกิจวัตรหรือมีความเสี่ยงสูง ทำให้มีเวลาและทรัพยากรในการมุ่งเน้นงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะด้าน ช่วยในการตัดสินใจที่ซับซ้อน และการให้บริการที่มีความละเอียดอ่อน ซึ่งล้วนเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลทางการแพทย์
สำหรับการนำเทคโนโลยีทางด้านหุ่นยนต์มาใช้ในงานทางการแพทย์มีหลายด้าน เช่น หุ่นยนต์ในการขนส่งและจัดส่ง (Logistics and Delivery Robots) หุ่นยนต์จัดเตรียมและจ่ายยา (Pharmacy Automation Robots) หุ่นยนต์ผ่าตัด (Surgical Robots) หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation Robots) รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค วิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ที่มีจำนวนมาก เช่น ภาพถ่ายรังสี (X-ray, MRI, CT Scan) ข้อมูลผลเลือด และประวัติผู้ป่วย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดความผิดพลาด ลดภาวะแทรกซ้อน และลดระยะเวลาการพักฟื้นของผู้ป่วย ขณะที่บุคลากรมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งกับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
************************************** 22 กรกฎาคม 2568