ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมบอร์ดนโยบายลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรค NCDs ครั้งที่ 2 ติดตามความก้าวหน้าประเด็นขับเคลื่อนเชิงนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ สร้างความเข้มแข็งร่วมกับภาคีเครือข่าย หนุนให้คนไทยบริโภคเกลือและโซเดียม ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเกลือแกงไม่เกิน 1 ช้อนชา เพื่อประชาชนมีสุขภาพดี ลดป่วย NCDs

วันนี้ (21 กรกฎาคม 2568) ที่ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ครั้งที่ 2/2568 โดยมี นายแพทย์สุทัศน์  โชตนะพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค คณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม โดยนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งการบริโภคเกลือเกินขนาด ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรค NCDs โดยเฉพาะจากพฤติกรรมการบริโภคโซเดียมในคนไทยที่มีผลมาจากการปรุงอาหารในครัวเรือน และการบริโภคอาหารสำเร็จรูป ส่งผลต่อการทำงานของไต จึงต้องเร่งรัดแก้ไขปัญหาโดยยกระดับการบังคับใช้มาตรการผ่านยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมฯ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในการลดบริโภคเกลือและโซเดียมของประชาชน โดยที่ประชุมวันนี้ได้มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินงานยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2568 ถึงปี 2570 พร้อมกับจัดทำแผนปฏิบัติการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในระยะต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลงร้อยละ 30 หรือบริโภคเกลือและโซเดียม ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบกับเกลือแกงไม่เกิน 1 ช้อนชา เพื่อให้คนไทยสุขภาพดี ห่างไกลโรค NCDs

ด้านนายแพทย์สุทัศน์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามความก้าวหน้าของ 5 ยุทธศาสตร์ ลดบริโภคเกลือฯ ประกอบด้วย 1) การสร้าง พัฒนา และขยายเครือข่ายความร่วมมือ (S: Stakeholder network) สนับสนุนให้ อสม. มีเครื่องมือ Salt meter ในการตรวจวัดโซเดียมในอาหารครัวเรือน 2) การเพิ่มความรู้ ความตระหนักและเสริมทักษะประชาชน ชุมชน ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ บุคลากรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและผู้กำหนดนโยบาย (A: Awareness) เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ “ลดจิ้ม” ผ่านช่องทางต่างๆ 3) การปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการผลิต ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเกิดผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ รวมทั้งเพิ่มทางเลือกและช่องทางการเข้าถึงอาหารปริมาณโซเดียมต่ำ (L: Legislation and environmental reform) โดยใช้เกณฑ์ WHO SEARO ในการจัดเก็บภาษีปริมาณโซเดียมที่เหมาะสม พัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ( Healthier
choice logo) ในสินค้ากลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปและขนมขบเคี้ยว พร้อมทั้งตรวจสอบการออกกฎหมายกำกับดูแลเรื่องปริมาณเกลือโซเดียม และ GLP (Good Laboratory Practice) ร่วมกับภาคีเครือข่าย เป็นทางเลือกสุขภาพให้ผู้ประกอบการได้รับตราสัญลักษณ์ Healthier choice 4) การพัฒนางานวิจัยและองค์ความรู้ และการนำไปสู่การปฏิบัติ (T: Technology and Innovation) โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2567 – 2568 อยู่ในระหว่างการศึกษา โครงการวิจัยข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดทำเกณฑ์มาตรฐานปริมาณโซเดียมสำหรับอาหารประเภทต่างๆของประเทศไทยเพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานปริมาณโซเดียมสำหรับอาหารและความเหมาะสมกับสถานการณ์การบริโภคโซเดียมและบริบทของประเทศไทย และเป็นแนวทางให้การบริโภคเกลือและโซเดียมของคนไทยลดลงลดค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ และ 5) การพัฒนาระบบเฝ้าระวังติดตาม และประเมินผล เน้นตลอดกระบวนการผลิตและผลลัพธ์ (S: Surveillance, monitoring and evaluation)

**********************************************21 กรกฎาคม 2568



   
   


View 187    21/07/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ