กรมควบคุมโรค ย้ำเตือนประชาชนระวังป่วยโรคเมลิออยด์ หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน
- สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
- 27 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ป่วยเบาหวาน ระวังป่วยโรคเมลิออยด์ สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ตลอดทั้งปี แต่พบมากในช่วงฤดูฝน เชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล การหายใจหรือการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน หากจำเป็นต้องลงพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรใส่รองเท้าบู๊ตเพื่อป้องกัน และหลังขึ้นจากน้ำให้รีบทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
วันนี้ (10 กรกฎาคม 2568) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมขังหรือดินชื้นแฉะ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เกษตรกร หรือผู้ที่ต้องทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง และโรคธาลัสซีเมีย จะมีความเสี่ยงป่วยโรคเมลิออยด์สูง โดยเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุจะอยู่ในดินและในน้ำ จะเข้าสู่ร่างกายได้ทางเยื่อบุผิวหนังหรือบาดแผล การดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป รวมถึงการสูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป หลังติดเชื้อโดยเฉลี่ย 4 - 9 วัน จะมีอาการเจ็บป่วย เร็วสุดหนึ่งวันแต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภาวะภูมิคุ้มกันของแต่ละคน อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ อาจเป็นการติดเชื้อเฉพาะที่หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะก็ได้ ซึ่งมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นหลายโรค ส่วนใหญ่เริ่มจากมีไข้ มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจหอบเหนื่อย เป็นต้น บางรายพบมีฝีที่ผิวหนัง ปอด ตับหรือม้าม ในรายที่มีอาการรุนแรง มักมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด จึงทำให้วินิจฉัยโรคได้ยาก ต้องอาศัยการตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก เพื่อใช้ประกอบการตรวจวินิจฉัยและรักษา
สถานการณ์โรคเมลิออยด์ ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังโรคดิจิทัล (Digital Disease Surveillance: DDS) กองระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 9 กรกฎาคม 2568 พบผู้ป่วย 1,676 ราย ผู้เสียชีวิต 72 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูง 3 อันดับแรก คือ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป 693 ราย รองลองมาเป็นกลุ่มอายุ 50 - 59 ปี (449 ราย) และกลุ่มอายุ 40 - 49 ปี (247 ราย) ตามลำดับ พื้นที่ที่พบผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุดห้าอันดับแรกคือ มุกดาหาร 15.82 ต่อประชากรแสนคน ยโสธร (11.10) บึงกาฬ (9.77) นครพนม (9.66) และ บุรีรัมย์ (8.64) ตามลำดับ
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า วิธีการป้องกันโรคเมลิออยด์สามารถทำได้ ดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบู๊ต ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือชุดลุยน้ำ หลังสัมผัสดินและน้ำให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที 2. หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อและหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 3. รับประทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำในบรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง 4. หลีกเลี่ยงการสูดดมลมฝุ่นและการอยู่ท่ามกลางสายฝน 5. หากมีอาการไข้สูงต่อเนื่อง 2 วัน ร่วมกับมีประวัติการสัมผัสดินและน้ำ ให้รีบพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ป่วยโรคเบาหวาน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
********************
ข้อมูลจาก : กองระบาดวิทยา/กองโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 10 กรกฎาคม 2568