ปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อยยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย โดยเชื่อว่าควันหรือละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเพียงไอน้ำที่มีกลิ่นหอมจากสารปรุงแต่งเท่านั้น             

       นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะประกอบด้วยสารนิโคตินปริมาณสูง โลหะหนักที่เป็นพิษต่อร่างกาย รวมถึงสารแต่งกลิ่นรสที่ผ่านความร้อนจนกลายเป็นละอองไอ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะปอดอักเสบเฉียบพลัน และโรคร้ายแรงได้

       ศาสตราจารย์ นายแพทย์วินัย วนานุกูล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ควันบุหรี่และละอองไอจากบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารบิวตาไดอีน (Butadiene) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของบุหรี่และการให้ความร้อนกับน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า สารบิวตาไดอีนนี้ หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา จมูก และคอ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ แต่ที่สำคัญและอันตรายมากกว่าก็คือ มีหลักฐานที่ยืนยันว่าสารบิวตาไดอีนเป็นสารก่อมะเร็งที่มีความรุนแรง การได้รับสารบิวตาไดอีนในระยะยาว จึงมีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและยังมีผลให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงขึ้น

       กรมควบคุมโรค จึงขอเชิญชวนประชาชน เลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า ลดเสี่ยงการได้รับสารพิษหลายชนิดที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย และลดโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า สามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วน 1600 ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นการขายบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางต่าง ๆ สามารถแจ้งเบาะแสเพื่อดำเนินคดี ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

**********************************

ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 5 กรกฎาคม 2568

 

 

แหล่งข้อมูล         

  • Soeteman-Hernández, L. G., Bos, P. M., & Talhout, R. (2013). Tobacco smoke-related health effects induced by 1,3-butadiene and strategies for risk reduction. Toxicological sciences : an official journal of the Society of Toxicology136(2), 566–580. https://doi.org/10.1093/toxsci/kft194
  • Chen, W. Q., & Zhang, X. Y. (2022). 1,3-Butadiene: a ubiquitous environmental mutagen and its associations with diseases. Genes and environment : the official journal of the Japanese Environmental Mutagen Society44(1), 3. https://doi.org/10.1186/s41021-021-00233-y
  • Muthumalage, T., Friedman, M. R., McGraw, M. D., Ginsberg, G., Friedman, A. E., & Rahman, I. (2020). Chemical Constituents Involved in E-Cigarette, or Vaping Product Use-Associated Lung Injury (EVALI). Toxics8(2), 25. https://doi.org/10.3390/toxics8020025

 



   
   


View 27    05/07/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ