แสบร้อนที่หน้าอกเพราะมีกรดไหลย้อน คลื่นไส้อาเจียน กลืนลำบาก เหนื่อยง่าย ไอเรื้อรัง เสียงแหบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงวัยอย่านอนใจควรรีบพบแพทย์ เพราะสาเหตุอาจเกิดจากมะเร็งหลอดอาหาร

 

               นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งหลอดอาหาร มีอัตราการเกิดทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 3-5 คนในประชากร 100,000 คนต่อปี อัตราเกิดสูงที่สุดในประเทศที่มีฐานข้อมูลทางการแพทย์ เช่น จีน ญี่ปุ่น และยุโรปตะวันออก มะเร็งหลอดอาหารมีความชุกที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 50-70 ปี มะเร็งหลอดอาหารเป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในอวัยวะซึ่งเป็นท่อที่ทำหน้าที่ลำเลียงอาหารระหว่างปากและกระเพาะอาหาร มะเร็งชนิดนี้มีต้นกำเนิดที่เยื่อบุผิวของหลอดอาหาร สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิดหลัก ได้แก่ ชนิด Squamous Cell Carcinoma มักเกิดจากเซลล์ที่ปกคลุมในหลอดอาหารเกือบทั้งหมดตั้งแต่คอจนถึงในช่องอก และชนิด Adenocarcinoma มักเกิดจากเซลล์ที่ผลิตสารหล่อลื่นในหลอดอาหาร โดยมักพบในส่วนล่างของหลอดอาหารในส่วนท้อง

 

เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งหลอดอาหาร ได้แก่ การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ภาวะกรดไหลย้อน ผู้ที่มีปัญหาเหล่านี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมากขึ้น การบริโภคอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่มีสารกันบูด เครื่องดื่มหรืออาหารที่ร้อนจัด และผู้ที่เป็นมะเร็งในช่องปาก หรือโพรงจมูกร่วมด้วย เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยง อาการของผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารสามารถแตกต่างกันไปตามระยะของโรค โดยทั่วไปอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น อาการปวดหรือไม่สบายที่หน้าอก รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายในบริเวณกลางหน้าอก อาการกลืนลำบาก (Dysphagia) มีความยากลำบากในการกลืนอาหารหรือของเหลว โดยอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในหลอดอาหาร การลดน้ำหนักโดยไม่ตั้งใจ ผู้ป่วยอาจสูญเสียน้ำหนักอย่างรวดเร็วโดยไม่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาหาร อาการคลื่นไส้และอาเจียน แสบร้อนหน้าอก มีกรดไหลย้อน อาการเสียงแหบ หากมีการกดทับที่เส้นเสียงจากการเติบโตของเนื้องอกอาการเหนื่อยง่ายหรือไม่มีแรง อาการไอมาก ไอเรื้อรัง หากมีอาการเหล่านี้เกิดขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

 

นายแพทย์กิตินัทธ์ ทิมอุดม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งระบบทางเดินอาหาร สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การวินิจฉัยมะเร็งหลอดอาหาร ทำได้ด้วยวิธีการส่องกล้องหลอดอาหาร (Endoscopy) โดยแพทย์จะใช้กล้องเล็ก ๆ ตรวจสอบหลอดอาหาร มักพบลักษณะได้ทั้งแผลลึก แผลตื้น ก้อนโตกีดขวางทางในรูหลอดอาหาร วิธีการตรวจชิ้นเนื้อ (Biopsy) ในระหว่างการส่องกล้อง อาจจะทำการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อตรวจหามะเร็ง วิธีการการตรวจภาพ เช่น เอกซเรย์กลืนแป้ง CT Scan หรือ MRI เพื่อดูว่ามะเร็งได้แพร่กระจายหรือไม่ มีความลึกถึงชั้นใด มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงหรือไม่

 

การรักษามะเร็งหลอดอาหารขึ้นอยู่กับระยะของโรค แต่ทั่วไปจะมีวิธีการ ได้แก่ การผ่าตัด อาจจะต้องตัดหลอดอาหารส่วนที่มีมะเร็งรวมถึงเนื้อเยื่อรอบ ๆ หรือลอกผิวที่เป็นมะเร็งออก ใช้ได้กับมะเร็งระยะต้น การฉายรังสีรักษาเพื่อลดขนาดของเนื้องอก หรือทำลายเซลล์มะเร็งในระยะลุกลาม มีการกระจายต่อมน้ำเหลือง การใช้เคมีบำบัด ซึ่งเป็นยาเพื่อใช้ในการทำลายเซลล์มะเร็งระยะกระจาย และการบำบัดทางภูมิคุ้มกัน เป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ต่อสู้กับมะเร็ง

 

มะเร็งหลอดอาหารเป็นโรคที่มีอันตรายและต้องการความสนใจอย่างเร่งด่วน การรู้จักและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง การวินิจฉัยอย่างถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ หากท่านมีข้อสงสัย สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติผ่านทาง Facebook : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ National Cancer Institute และ LINE : NCI รู้สู้มะเร็ง

…………………………..

 

-ขอขอบคุณ-

19 พฤษภาคม 2568

 

 



   


View 22    19/05/2568   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์