กรมอนามัย หารือ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) ใช้ Ai ส่งเสริมสุขภาพคนไทย กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
- กรมอนามัย
- 27 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (14 พฤษภาคม 2568) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุมและทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย ข้าราชการ และประชาชน เฝ้ารับเสด็จฯ
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบบังคมทูลรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 – 2570 โดยแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย รวมทั้งรายงานการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และจังหวัดฉะเชิงเทรา
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กราบบังคมทูลถวายสรุปรายงานการประชุม ครั้งที่ 1/2565 และนำเสนอความก้าวหน้าผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 – 2570 ตั้งแต่มีนาคม 2565 –เมษายน 2568 ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การขับเคลื่อนการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนสู่ความยั่งยืน มุ่งเน้นผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยการเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม ตั้งแต่ระดับกระทรวงจนถึงระดับพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ โดยใช้ฐานข้อมูลไอโอดีนระดับชาติ (แพลตฟอร์มไอโอดีน) เป็นฐานในการดำเนินงาน ทั้งนี้ จากความร่วมมือหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนชุมชนหมู่บ้านไอโอดีน ทำให้ปัจจุบันมีชุมชนหมู่บ้านไอโอดีนทั่วประเทศ จำนวน 34,271 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 42.2 ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาระบบควบคุมการผลิตเกลือบริโภคเสริมไอโอดีนและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นการกำกับติดตามของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในปี 2567 คุณภาพเกลือบริโภคเสริมไอโอดีน ณ สถานที่ผลิตและสถานที่จำหน่ายมีแนวโน้มดีขึ้น โดยสถานที่ผลิตผ่านเกณฑ์ตามค่าเป้าหมาย (ร้อยละ 90 ขึ้นไป) ส่วนสถานที่จำหน่ายผ่านมาตรฐาน ปี 2567 ร้อยละ 72.4 ส่วนผลิตภัณฑ์ปรุงรส เช่น น้ำปลา และซอสถั่วเหลืองมีแนวโน้มผ่านมาตรฐานเพิ่มขึ้นเช่นกัน สืบเนื่องมาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มทักษะการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนให้ได้คุณภาพตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2566 - 2568 ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาระบบเฝ้าระวัง การจัดข้อมูล และงานวิจัย จากการเฝ้าระวังความครอบคลุมของครัวเรือนที่บริโภคเกลือเสริมไอโอดีนที่มีคุณภาพ (20 – 40 ppm) พบว่ายังไม่ครอบคลุมตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ร้อยละ 90 ส่วนค่ามัธยฐานระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563 – 2567) โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์ คือ มากกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลิตร และความครอบคลุมของการได้รับยาเม็ดเสริมไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกในหญิงตั้งครรภ์ ปี 2567 เท่ากับร้อยละ 87.7 ใกล้เคียงเป้าหมาย (ร้อยละ 88) นอกจากนี้ กรมอนามัยยังดำเนินการเก็บข้อมูลไอโอดีนในปัสสาวะของเด็กอายุ 3–5 ปี และผู้สูงอายุ โดยใช้ระบบการตรวจแบบรอบ (Cyclic Monitoring System) ในปี 2566-2567 ครอบคลุม 53 จังหวัด พบว่าระดับไอโอดีนในปัสสาวะทั้ง 2 กลุ่ม ภาพรวมอยู่ในระดับเพียงพอ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนทางสังคม และการสื่อสารประชาสัมพันธ์ กิจกรรมสำคัญคือ วันที่ 25 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันไอโอดีนแห่งชาติ มีการจัดรณรงค์ผ่านธีมงานที่มุ่งให้เกิดการ “ระดมทุนทางสังคม ปลุกพลังประชาชน สร้างความรอบรู้ด้านไอโอดีน” และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อให้เหมาะสมกับบริบท และตอบโจทย์พื้นที่ทั้งคลิปภาพและคลิปเสียง สำหรับการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ในระยะต่อไป ยังคงมุ่งเน้นขจัดโรคขาดสารไอโอดีนให้หมดไปจากประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและสุขภาพที่ดี
ในการนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานคำชี้แนะ และทรงมีพระราชวินิจฉัย แผนปฏิบัติการด้านควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ พ.ศ. 2565 - 2570 ทอดพระเนตรนิทรรศการ และฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนแห่งชาติ
***
กรมอนามัย / 14 พฤษภาคม 2568