กระทรวงสาธารณสุข รับทีม Thailand EMT ผลัดสุดท้ายกลับประเทศ หลังเสร็จสิ้นการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว "เมียนมา" เผยส่งบุคลากรรวม 122 คน ให้บริการ 4 ผลัด รวม 24 วัน ดูแลผู้ประสบภัย 3,905 ราย ส่วนใหญ่มีอาการกล้ามเนื้อและข้อต่อ ระยะหลังเน้นดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เข้มเรื่องน้ำ-สุขาภิบาล ประเมินผลเบื้องต้นตอบสนองภารกิจได้ครบถ้วน เตรียมถอดบทเรียนรองรับเหตุฉุกเฉินในอนาคต 

            วันนี้ (8 พฤษภาคม 2568) ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพฯ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้ นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ร่วมคณะเดินทางไปรับทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะภัยพิบัติ (Thailand Emergency Medical Team :Thailand EMT) ผลัดสุดท้าย ซึ่งเสร็จสิ้นภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว ที่สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา โดยออกจากจากสนามบินมัณฑะเลย์ มาถึงประเทศไทยในช่วงเวลา 15.00 น. มีนพ.สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ และคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ร่วมต้อนรับ

              นพ.สกานต์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้รับการประสานให้ส่งทีม Thailand EMT ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่เมียนมา จำนวน 4 ชุด ชุดละ 1 สัปดาห์ รวม 122 คน ผลัดแรก วันที่ 12-18 เมษายน 2568 จำนวน 30 คน, ผลัด 2 วันที่ 18-25 เมษายน 2568 จำนวน 25 คน ผลัด 3 วันที่ 25 เมษายน - 2 พฤษภาคม 2568 จำนวน 30 คน และผลัด 4 วันที่ 2 - 8 พฤษภาคม 2568 จำนวน 37 คน ภาพรวมทีม Thailand EMT ให้บริการ 24 วัน ผู้รับบริการ 3,905 ราย ปัญหาสุขภาพหลักที่พบมากสุด 5 อันดับ ได้แก่ กล้ามเนื้อและข้อต่อ ร้อยละ 52 โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ร้อยละ 21 ระบบประสาท/ทางเดินหายใจเฉียบพลัน ร้อยละ 17 โรคทางตา ร้อยละ 16 และโรคผิวหนัง ร้อยละ 14.5 รวมทั้งมีการทำหัตถการต่างๆ อาทิ พ่นยา ฉีดยา ทำแผล ผ่าตัดระบายหนอง อัลตราซาวนด์ ตรวจคลื่นหัวใจไฟฟ้า ใส่เฝือก เป็นต้น โดยมีผู้ป่วยอาการรุนแรงต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาล 34 ราย เช่น กระดูกหัก แผลติดเชื้อ ตับอักเสบ แก้วหูทะลุ หัวใจล้มเหลว ลมชัก ภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน หอบหืดเฉียบพลัน วัณโรคปอด และต้อหิน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดย กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรม สนับสนุนบริการสุขภาพ กองสาธารณสุขฉุกเฉิน และทีมจากเขตบริการสุขภาพ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสถานทูตไทยในเมียนมา กระทรวงกลาโหม ทีมทหาร และ แพทย์ทหาร จากกองบัญชาการกองทัพไทย รวมถึงมูลนิธิร่วมกตัญญู

           นพ.สกานต์กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลการให้บริการพบว่า ภารกิจระยะแรกจะเกี่ยวข้องกับเหตุแผ่นดินไหวโดยตรง แต่ภารกิจช่วงหลังมากกว่า ร้อยละ 90 จะเป็นการดูแลระยะยาวและภาระโรค NCDs โดยพบปัญหาเรื่องความแออัด สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำดื่ม/น้ำใช้ ภาวะอุณหภูมิสูงที่จะกระตุ้นอาการโรคเรื้อรังและโรคที่เกิดจากความร้อน รวมถึงการขาดแคลนยาสำรองสำหรับโรคเรื้อรัง ซึ่งทีม Thailand EMT ได้มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงระบบน้ำและสุขาภิบาลและตรวจคุณภาพน้ำเป็นระยะ, เฝ้าระวังโรคติดต่อในกลุ่มเสี่ยง คือ เด็กและผู้สูงอายุ และควบคุมจำนวนลูกน้ำยุง, ประสานหน่วยบริการในพื้นที่ จัดยาเวชภัณฑ์สำรอง และระบบติดตามการขาดยาในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยชื่อมโยงบริการท้องถิ่นในการส่งต่อกลุ่มรุนแรงและโรค NCDs สู่คลินิกชุมชนเพื่อการดูแลอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งให้ความรู้การดูแลสุขภาพตนเอง ทั้งการล้างมือ การป้องกันโรคจากความร้อน และสังเกตอาการเบื้องต้น
 
         "การส่งทีม Thailand EMT ไปครั้งนี้ สามารถตอบสนองภารกิจได้อย่างครบถ้วน ผู้ปฏิบัติงานทุกท่านได้รับการดูแลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีและเดินทางกลับสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัย แม้ต้องเผชิญความท้าทายจากสภาพอากาศและโครงสร้างพื้นฐานเสียหาย โดยภารกิจช่วงหลังเน้นการดูแลโรคเรื้อรังและการบูรณาการกับระบบสุขภาพท้องถิ่นเป็นหลัก การเสริมมาตรการน้ำ-สุขาภิบาล ยาโรค NCDs และระบบส่งต่อระยะยาว ที่จะช่วยยกระดับความยั่งยืนของบริการต่อไป นับเป็นการปฏิบัติในสถานที่จริงเหตุการณ์จริง ที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพยกระดับเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การประเมิน EMT Type 2 ของประเทศไทย ซึ่งหลังจากนี้จะมีการถอดบทเรียนการดำเนินงาน เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป" นพ.สกานต์กล่าว

************************************ 8 พฤษภาคม 2568
 



   
   


View 351    08/05/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ