รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุม คกก.อำนวยการแผนสร้างระบบจัดการภาวะฉุกเฉินฯ นัดแรกหลัง “รัฐมนตรีสมศักดิ์” แต่งตั้ง สั่งเข้มบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่องานสาธารณสุขฉุกเฉิน และประเมินปรับปรุงให้ครอบคลุมภัยทุกประเภทเพื่อช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที พร้อมถอดบทเรียนกรณีแผ่นดินไหว เสนอยกระดับทีม EMT ให้มีเขตสุขภาพละ 1 ทีมและส่วนกลาง 1 ทีม รวมถึงเฝ้าระวัง 7 สถานการณ์ความมั่นคงที่อาจกระทบต่อระบบสาธารณสุข

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่28 มีนาคม 2568 ทำให้เห็นว่าภาวะฉุกเฉินทางธรรมชาติสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตและระบบบริการสาธารณสุข การเตรียมความพร้อมและการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ดังนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ลงนามคำสั่ง เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแผนด้านการสร้างระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน และมี 54 หน่วยงานร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจัดทำแผนให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 และกรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ พ.ศ. 2558 - 2573 พร้อมจัดทำโครงสร้างระบบบัญชาการเหตุการณ์และแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกประเภทภัย รวมถึงอำนวยการดำเนินงานทั้งด้านการป้องกัน การลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อมรองรับตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และการฟื้นฟูให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ

นพ.วีรวุฒิกล่าวต่อว่า คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้จัดประชุมนัดแรก เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการรายงานผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข พ.ศ. 2566 – 2570 ในรอบ 6 เดือนของปีงบประมาณ 2568 พบว่า มีการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่องานสาธารณสุขฉุกเฉิน (GIS) ประกอบด้วยแอปพลิเคชันที่หลากหลาย ทั้งแผนที่ ทะเบียนรายชื่อผู้เชี่ยวชาญ และระบบบันทึกข้อมูล ซึ่งสามารถนำเข้าข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้ทันท่วงที โดยจะบูรณาการการใช้ระบบ GIS กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างความร่วมมือเชื่อมโยงระบบข้อมูล และประเมินการใช้งานเพื่อพัฒนาปรับปรุงระบบให้ครอบคลุมภัยทุกประเภท โดยจัดทำแผนปฏิบัติการเฉพาะโรคและภัยสุขภาพ เช่น แผ่นดินไหว อุทกภัย ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น รวมถึงรายงานผลการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีแผ่นดินไหวและการช่วยเหลือในเมียนมา โดยให้มีการถอดบทเรียนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และเสนอให้ยกระดับทีมปฏิบัติการฉุกเฉินโดยมีทีม EMT Type1 Mobile ระดับเขตสุขภาพ เขตละ 1 ทีม และทีม EMT Type1 Fixed ระดับส่วนกลาง 1 ทีม

“ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการพัฒนาทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ ตามข้อเสนอของกรมการแพทย์ และรับทราบถึงสถานการณ์ความมั่นคงที่อาจกระทบต่อระบบสาธารณสุขที่ต้องให้ความสำคัญภายใต้แผนเตรียมความพร้อม ได้แก่ ภาวะโลกร้อน ปัญหาด้านบริหารจัดการสาธารณสุขชายแดน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ/ภัยจากการรั่วไหลของสารเคมีและรังสี อาชญากรรมทางไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในภาวะวิกฤต รวมถึงการเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ” นพ.วีรวุฒิกล่าว

********************************** 3 พฤษภาคม 2568



   
   


View 248    03/05/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ