ปลัด สธ. นั่งประธานสภา “สถาบันวัคซีนนานาชาติ” ประชุมแผนวัคซีนระดับโลกรองรับ “ไข้หวัดนก”
- สำนักสารนิเทศ
- 284 View
- อ่านต่อ
ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 มอบนิติกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นติดตามการดำเนินคดี กรณีญาติผู้ป่วยด่าทอดูหมิ่นบุคลากรที่ให้บริการในห้องฉุกเฉิน รพ.มัญจาคีรี เพื่อเป็นแบบอย่างแก่สังคมและปกป้องบุคลากรจากความรุนแรง พร้อมขอทุกคนร่วมกันทำให้โรงพยาบาลทุกแห่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย
วันนี้ (19 เมษายน 2568) นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 กล่าวถึงกรณีญาติผู้ป่วยแสดงอารมณ์รุนแรงและใช้คำพูดต่อว่าดูหมิ่นบุคลากรในห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลมัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เมื่อช่วงค่ำวันที่ 14 เมษายน 2568 ว่า ได้รับรายงานจาก นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดแล้ว โดยผู้ป่วยหญิงอายุ 70 ปี เป็นโรคหอบหืด มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินด้วยอาการหายใจเหนื่อย อ่อนแรง เจ้าหน้าที่ได้คัดกรองอาการทันที ตรวจวัดสัญญาณชีพพบว่าปกติ จัดเป็นผู้ป่วย "สีเขียว" หรือไม่เร่งด่วน แต่ลูกชายไม่เข้าใจจึงแสดงอาการไม่พอใจ โวยวายเสียงดังและกล่าวหาว่า “โรงพยาบาลฆ่าสัตว์” พร้อมขู่จะถ่ายคลิปลงโซเชียลมีเดีย แม้เจ้าหน้าที่พยายามอธิบายและขอให้ใจเย็น แต่ผู้ก่อเหตุยังโวยวายก่อนจะออกจากห้องฉุกเฉินไป ซึ่งโรงพยาบาลมัญจาคีรีได้ไปแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานและก่อความวุ่นวายในสถานที่ราชการ เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นมอบหมายให้นิติกรของสำนักงานฯ ให้คำปรึกษาทางกฎหมายและติดตามเรื่องอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม
"โรงพยาบาลดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอน ทั้งการคัดกรองรักษาผู้ป่วยและการควบคุมสถานการณ์ แต่ผู้ก่อเหตุได้แสดงความรุนแรงด่าทอดูหมิ่นเจ้าหน้าที่ แม้จะเป็นเพราะรักและห่วงใยญาติของตน แต่การกระทำลักษณะนี้ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาและไม่เป็นที่ยอมรับ ซึ่งนอกจากจะทำให้การดูแลผู้ป่วยรายอื่นล่าช้า ยังส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จึงจำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายเพื่อเป็นแบบอย่างไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกและเป็นหลักประกันให้บุคลากรว่าจะได้รับการปกป้องจากความรุนแรงและภัยคุกคามทุกรูปแบบ" นพ.เอกชัยกล่าว
นพ.เอกชัยกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่ชัดเจนว่า โรงพยาบาลทุกแห่งในประเทศไทยต้องเป็น "พื้นที่ปลอดภัย" (Safe Zone) สำหรับทั้งประชาชนผู้มารับบริการและบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน โดยเฉพาะจุดที่มีความตึงเครียดสูง เช่น ห้องฉุกเฉินที่บุคลากรต้องทำงานภายใต้แรงกดดันอย่างมาก และให้ความสำคัญกับการป้องกันความรุนแรงในสถานพยาบาลมาโดยตลอด เช่น การส่งเสริมการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพกับญาติผู้ป่วยผ่านระบบคัดกรอง การอธิบายขั้นตอนทางการแพทย์ และการประเมินความเร่งด่วนของโรคอย่างโปร่งใส, การติดตั้งกล้องวงจรปิดอย่างทั่วถึงในพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้มีหลักฐานและช่วยลดเหตุการณ์ที่อาจบานปลาย, การอบรมบุคลากรในการจัดการสถานการณ์ความเครียด (Crisis Communication and De-escalation Skills) เพื่อรับมือกับเหตุการณ์รุนแรงโดยไม่กระทบการให้บริการ และการประสานกับฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ เช่น สถานีตำรวจ เพื่อขอสนับสนุนในกรณีที่เกิดความวุ่นวายรุนแรง ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกคนร่วมกันสร้างบรรยากาศของความเข้าใจ เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพื่อให้โรงพยาบาลทุกแห่งยังคงเป็นพื้นที่แห่งความหวัง ความปลอดภัย และความเมตตาสำหรับทุกคน
********************************************** 19 เมษายน 2568