รณรงค์ "ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ" พื้นที่เขตสุขภาพที่ 10 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568
- กรมการแพทย์
- 31 View
- อ่านต่อ
สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ เตือนให้ผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะเดินทางกลับบ้านหรือเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม
ด้วยการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ก่อนหรือระหว่างขับรถ ช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในเดือนเมษายนของทุกปี จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทย ซึ่งมีวันหยุดยาวหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่จึงนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนา
เพื่อกลับไปพักผ่อนกับครอบครัว บางส่วนเดินทางไปเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ตามสถานที่ต่างๆ และอาจมีการดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสังสรรค์ หากดื่มในปริมาณมากจนเกินไป จะทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ไม่สามารถควบคุมตัวเอง อาจเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น หากดื่มแล้วขับขี่ยานพาหนะ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่งผลให้สูญเสียทรัพย์สิน บาดเจ็บ พิการและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์ยังส่งผลต่ออวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น ส่งผลต่อสมอง ทำให้ความจำเสื่อม การตัดสินใจล่าช้า การใช้เหตุผลลดลง ผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ชาปลายมือ ปลายเท้า ผลต่อระบบหัวใจ ทำให้การเต้นและการบีบตัวของหัวใจผิดปกติ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบ ร่วมกับมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร หากมีปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติ
บรมราชชนนี กล่าวว่า ผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต้องมีความรับผิดชอบต่อคนรอบข้างและสังคมให้มาก ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ก่อนหรือระหว่างขับรถโดยเด็ดขาด
เพราะการดื่มแอลกอฮอล์นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มแล้วยังส่งผลกระทบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นการทะเลาะวิวาท การทำร้ายผู้อื่น อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 พบการเกิดอุบัติเหตุ จำนวน 2,044 ครั้ง และมีผู้บาดเจ็บ จำนวน 2,060 คน นับเป็นอุบัติเหตุที่เกิดจากการดื่มแล้วขับ 22.7% นอกจากนี้ยังมีความผิดต้องรับโทษและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย เน้นย้ำให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวหมั่นดูแลซึ่งกันและกัน ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ช่วยกันรับผิดชอบสังคม ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนด้วยการดื่มไม่ขับ ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา ยา และสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th
*************************************************
#กรมการแพทย์ #สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี #สบยช. #สุรา #สงกรานต์
-ขอขอบคุณ- 12 เมษายน 2568