ปลัด สธ. แถลงอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ วันแรกเกิดอุบัติเหตุ 211 ครั้ง ส่วนใหญ่จากขับรถเร็วเกิน เตือนการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ อาจทำให้ง่วงและเกิดอุบัติเหตุได้
- สำนักสารนิเทศ
- 123 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สร้างความปลอดภัยช่วงเทศกาลสงกรานต์ ย้ำประชาชน “ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย ใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทาง” เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในส่วนกลางและทุกจังหวัด สนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จัดชุดปฏิบัติการฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ พร้อมหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) เน้นแนวทาง 3 ต. “ตระเตรียม ติดตาม และตักเตือน” เฝ้าระวังการดื่มแล้วขับในชุมชน บังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้มงวด ร่วมกับกรมการขนส่งทางบกจัด “รถตู้สาธารณะปลอดภัย” และให้ อสม.ช่วยชี้เป้าจุดเสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงดื่มแล้วขับ/ไม่สวมหมวกนิรภัย
วันนี้ (10 เมษายน 2568) ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ ดร.พิเชษฐ์ หนองช้าง เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าว “ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย ใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทาง” โดยกล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข ความอบอุ่นที่ครอบครัวได้กลับไปอยู่พร้อมหน้ากัน ขอให้วางแผนการเดินทางล่วงหน้าเพื่อให้กลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย ซึ่งจากสถิติอุบัติเหตุใหญ่ทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ที่ผ่านมา พบว่าสาเหตุอันดับ 1 มาจากขับรถเร็ว รองลงมาคือ หลับใน ตัดหน้ากระชั้นชิด และดื่มแล้วขับ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่สวมหมวกนิรภัย/ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้จึงขอให้ขับขี่อย่างมีสติ ไม่ขับรถเร็ว เคารพกฎจราจร ผู้ขับขี่ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง หากขับรถทางไกล ให้จอดพักรถในที่ปลอดภัยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายอิริยาบท ลดความเมื่อยล้า ลดปัญหาการหลับในและลดการเกิดอุบัติเหตุ ขอย้ำว่า “ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ สวมหมวกนิรภัย คาดเข็มขัดนิรภัย ตลอดการเดินทางไม่ว่าใกล้หรือไกล”
นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อประสานงาน/สนับสนุนการปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประสานและสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้ง “ชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน” ออกช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ เตรียมความพร้อมหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ทีมปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (BLS) และขั้นสูง (ALS) ในพื้นที่ห่างไกลโรงพยาบาล ตลอดจนเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในโรงพยาบาล เช่น เหตุทะเลาะวิวาท และบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการลดอุบัติเหตุทางถนน สนับสนุนการทำงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดและรายงานผลภายใน 24 -48 ชั่วโมง ร่วมกับกรมคุมประพฤติ ประเมิน คัดกรอง บำบัดรักษาผู้ถูกคุมประพฤติฐานขับรถในขณะเมาสุราที่มีความเสี่ยงสูง หรือผู้ติดสุราที่มีปัญหารุนแรงและเรื้อรัง ให้สามารถลด ละ เลิกการดื่มสุรา มีสุขภาพดีขึ้นทั้งกายและใจ
นพ.ภาณุมาศ กล่าวว่า กรมควบคุมโรค จะดำเนิน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1) ขับเคลื่อนแบบบูรณาการ ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน 2) จัดทำแผนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าและประชาชนตระหนักถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3) ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงในชุมชน ตามแนวทาง "3 ต." ได้แก่ ตระเตรียม ให้ความรู้แก่ร้านค้า ติดตามและตักเตือน เฝ้าระวังการดื่มขับในชุมชน และ 4) บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวด นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ดำเนินการ “รถตู้สาธารณะปลอดภัย” เน้นความพร้อมทั้งสภาพรถและพนักงานขับรถ รณรงค์คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสารเพื่อป้องกันภัยจากภาวะอับอากาศที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นในช่วงอากาศร้อนและการจราจรคับคั่ง โดยหากพบผู้โดยสารมีอาการมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก รู้สึกตัวน้อยลง พร้อมกันหลายคน อาจเกิดจากออกซิเจนในเลือดต่ำจากภาวะอับอากาศหรือการปนเปื้อนของก๊าซพิษจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร ให้รีบเปิดหน้าต่างระบายอากาศ จอดรถในที่ปลอดภัยและให้ผู้โดยสารออกจากรถไปยังที่มีอากาศถ่ายเท พร้อมโทรแจ้ง 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ
นพ.ภานุวัฒน์ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ประสาน อสม. ทั่วประเทศ ร่วมกันดูแลความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ ผ่านมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตามแนวทาง "สงกรานต์ปลอดภัย อสม.ร่วมใจดูแล" โดยการชี้เป้าจุดเสี่ยง/กลุ่มเสี่ยงดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย และช่วงเวลาเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ตระหนักถึงความปลอดภัยและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด รวมทั้งร่วมกับผู้นำชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งด่านชุมชน เพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น คนเมา หรือผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ ออกสู่ถนนใหญ่หรือนอกหมู่บ้าน
ด้าน ดร.พิเชษฐ์กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ระหว่างวันที่ 11-17 เมษายน 2567 มีการออกปฏิบัติการฉุกเฉินจากอุบัติเหตุทางถนนโดยเฉพาะอุบัติเหตุยานยนต์สูงที่สุดถึง 9,055 ครั้ง เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) 1,065 ราย (11.76%) ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) 6,341 ราย (70.03%) และผู้ป่วยฉุกเฉินไม่เร่งด่วน (สีเขียว) 967 ราย (10.68%) มีผู้เสียชีวิต 50 ราย ช่วงเวลาที่เกิดเหตุมากที่สุด คือ 20.00 น. รองลงมา คือ 17.00 น. และ 18.00 น. 5 จังหวัดที่เกิดเหตุมากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ ปทุมธานี สงขลา และอุบลราชธานี อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 จำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลดลง ร้อยละ 26.25 สำหรับในปีนี้ ได้มอบหมายให้ศูนย์นเรนทร สพฉ. เตรียมความพร้อมและบูรณาการร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนผ่านระบบสารสนเทศ (iDEMS) ประสานขอความร่วมมือหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ และหน่วยปฏิบัติการแพทย์ทุกเขตสุขภาพ เตรียมพร้อมออกปฏิบัติการฉุกเฉิน ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการอำนวยการ หรือศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 จำนวน 89 หน่วย และหน่วยปฏิบัติการแพทย์ จำนวน 5,797 หน่วย ได้รับอนุมัติตามประกาศแล้ว 3,238 หน่วย แบ่งเป็น ระดับพื้นฐาน 2,457 หน่วย (เช่น อปท.) ระดับสูง 708 หน่วย (รพ.) และระดับเฉพาะทาง 73 หน่วย (ทางอากาศ/จิตเวช/Stroke)
*********************************10 เมษายน 2568