รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ทีม MCATT เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบเหตุแผ่นดินไหวเมียนมา แล้วกว่า 70 ราย เพิ่มสายด่วนสุขภาพจิต "1323" และ "ศูนย์เยียวยาจิตใจ 1667" รวม 60 คู่สาย เตรียมพร้อมแพทย์นิติเวชสนับสนุนการตรวจชันสูตรและพิสูจน์อัตลักษณ์เมื่อได้รับการร้องขอ กำชับสถานพยาบาลทุกแห่งต้องผ่านการตรวจสอบและมีรายงานความปลอดภัยอาคารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเปิดให้บริการประชาชน 
           วันนี้ (30 มีนาคม 2568) ที่ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี แผ่นดินไหวในประเทศไทย ครั้งที่ 3/2568 โดยกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ดูแลผู้ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม A ผู้บาดเจ็บ/ผู้รอดชีวิตและครอบครัว กลุ่ม B ครอบครัวผู้เสียชีวิต/ผู้สูญหาย ผู้อยู่ในเหตุการณ์โดยรอบ หรือเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ และ กลุ่ม C ผู้รับรู้เหตุการณ์ผ่านสื่อสาธารณะ โดยในระยะวิกฤต 72 ชั่วโมงแรก เป็นการปฐมพยาบาลทางใจ ณ รพ.สนาม, ค้นหา เข้าถึงครอบครัวผู้เสียชีวิต/ผู้สูญหาย และสื่อสารเพื่อลดความตระหนก ส่วนระยะฉุกเฉิน 3-14 วัน จะติดตามปฐมพยาบาลทางใจผู้ได้รับผลกระทบ ณ ภูมิลำเนา, ขยายพื้นที่เยียวยาจิตใจรอบจุดเกิดเหตุ รวมถึงสื่อสารเพื่อสร้างพลังใจ โดยล่าสุด ให้การปฐมพยาบาลทางใจผู้ได้รับผลกระทบกลุ่ม A แล้ว 72 ราย ในจำนวนนี้ส่งเข้ารับการดูแลโดยจิตแพทย์ 2 ราย รวมทั้งได้เพิ่มบริการสายด่วนสุขภาพจิต "1323" จาก 20 คู่สาย เป็น 30 คู่สาย และเพิ่มบริการใหม่ "ศูนย์เยียวยาจิตใจ 1667" อีก 30 คู่สาย ให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง 

         นพ.วีรวุฒิ กล่าวต่อว่า ในส่วนของภารกิจการชันสูตรและพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิต/ผู้สูญหาย จะมีสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก ซึ่งตามแผนปฏิบัติการหากต้องการการสนับสนุนแพทย์นิติเวช จะประสานจากโรงพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ต่างๆ และกระทรวงสาธารณสุขเป็นลำดับ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการฯ ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมแพทย์นิติเวชจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง อาทิ นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพื่อสนับสนุนทันทีที่ได้รับการร้องขอ สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบในเขตสุขภาพที่ 1-9 ล่าสุด จากการเร่งสำรวจโดยบุคลากรทางด้านวิศวกรรม พบเพิ่มขึ้นเป็น 418 แห่ง ใน 41 จังหวัด รวม 624 อาคาร ได้กำชับให้มีการตรวจสอบและมีรายงานความปลอดภัยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อยก่อนเปิดให้บริการประชาชน เพื่อให้ผู้รับบริการและบุคลากรมีความมั่นใจและเกิดความปลอดภัยสูงสุด โดยในวันนี้ได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งได้รับความเสียหายในส่วนของทางเชื่อมต่ออาคาร แต่ไม่กระทบโครงสร้างหลัก ซึ่งจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติในวันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568 นี้

                                               ********************************** 30 มีนาคม 2568
 



   
   


View 321    30/03/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ