สธ. เผย ฟื้นฟูโรงพยาบาลได้รับผลกระทบจาก “น้ำท่วมใต้” แล้วเสร็จ 3 แห่ง อยู่ระหว่างฟื้นฟู 2 แห่ง ที่ปัตตานี
- สำนักสารนิเทศ
- 127 View
- อ่านต่อ
สาธารณสุข เผยเทศกาลสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุจากการเมาสุราสูงสุด เฉลี่ยปีละ 770 คดี เสียชีวิตสูงสุดในวันที่ 13 เมษายน เฉลี่ย 1 คนทุก 10-20 นาทีให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด สุ่มตรวจแหล่งขาย อาทิสถานบันเทิง ร้านค้า ปั๊มน้ำมัน เริ่มตั้งแต่ศุกร์ 9 -18 เมษายน 2553 หากพบฝ่าฝืนจะลงโทษทันที และให้อสม.ทั่วประเทศรณรงค์ร้านค้าในหมู่บ้านปฏิบัติตามกฎมาย พร้อมจัดกิจกรรมรณรงค์ “สงกรานต์สนุกได้...ไร้แอลกอฮอล์” วันที่ 9 เมษายน 2553 ที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่
วันนี้ (7 เมษายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าว “สงกรานต์สนุกได้...ไร้แอลกอฮอล์” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจราจรในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ 13-18 เมษายน 2553
นายจุรินทร์ กล่าวว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการ“สงกรานต์สนุกได้...ไร้แอลกอฮอล์” รณรงค์ให้ประชาชนทุกคนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย และลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และให้คนไทยทุกคนเข้าวัดทำบุญ เป็นสิริมงคลต่อชีวิตในการเริ่มต้นวันปีใหม่ไทย ซึ่งวัดเป็นสถานที่ห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ทั้งนี้สาระของกฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดมาตรการควบคุมการเข้าถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจำกัดวันและเวลาจำหน่าย สถานที่จำหน่ายและบริโภค อายุขั้นต่ำของผู้ซื้อต้องไม่ต่ำกว่า 20 ปี และห้ามจำหน่ายในลักษณะลด แลก แจก แถม อีกด้วย ซึ่งในการดำเนินงานให้สำเร็จ จะต้องใช้มาตรการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ วันสำคัญทางศาสนา รวมถึงวันสงกรานต์
นายจุรินทร์กล่าวว่า ตัวเลขที่น่าเป็นห่วงในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 15 ปีที่บาดเจ็บรุนแรงร้อยละ 18.4 ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 พบว่าเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า สำหรับอุบัติเหตุในภาพรวมปีที่ผ่านมาร้อยละ 40.7 เกิดจากเมาสุรา เป็นชายร้อยละ 78 และหญิงร้อยละ 28 โดยเฉพาะผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ ร้อยละ 67 บาดเจ็บรุนแรง ในจำนวนนี้ ร้อยละ 48 ดื่มแล้วขับ และเกิดจากการขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 51
ด้านนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 6 วัน หรือบางคนอาจหยุดยาวถึง 9 วัน ประเด็นที่เป็นห่วงที่สุดคือปัญหาอุบัติเหตุจราจร จากการดื่มฉลองด้วยเครื่องดื่มมึนเมาต่างๆ เนื่องจากคนไทยเชื่อว่าจะทำให้บรรยากาศสนุกสนานครื้นเครง จนได้ชื่อว่าสงกรานต์เป็นเทศกาลดื่มน้ำเมาแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันไทยมีกฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 100 เปอร์เซนต์เฉพาะในวันสำคัญทางศาสนา 3 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา แต่ไม่ได้บังคับช่วงสงกรานต์ จากการวิเคราะห์สถิติย้อนหลังในปี 2545-2551 พบว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์มีคดีอุบัติเหตุจากการเมาสุราสูงที่สุด เฉลี่ยปีละ 770 คดี สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลอดทั้งปีซึ่งมี 544 คดี โดยในวันที่ 13 เมษายนของทุกปี จะมีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดเฉลี่ย 102 ราย หรือ 1 คนในทุก 10-20 นาทีติดต่อกันมา 8 ปี
นางพรรณสิริ กล่าวต่อว่าในการลดและป้องกันปัญหาในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอความร่วมมือผู้ประกอบการและประชาชน ไม่ขายและไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งไม่นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในสถานที่จัดงานสงกรานต์ทุกแห่ง เพื่อสืบสานวัฒนธรรมที่ดีในการเล่นน้ำสงกรานต์ ส่วนผู้ที่ต้องขับขี่ยานพาหนะ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งก่อนและขณะขับขี่ โดยได้ให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทุกเขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ออกสุ่มตรวจการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท ตามสถานประกอบการ สวนสาธารณะ สถานที่ราชการ ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง ปั๊มแก๊ส และร้านค้าในวัดและโรงเรียน เพื่อเฝ้าระวังการกระทำผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด ให้เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน จนถึงวันที่ 18 เมษายน 2553 โดยเน้นสถานที่ห้ามขาย เวลาห้ามขาย สถานที่ห้ามดื่ม อายุผู้ซื้อ หากพบฝ่าฝืน ให้ลงโทษทันที
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือ อสม.ทั่วประเทศ รณรงค์ลดดื่มเครื่องดื่มมึนเมา ลดอุบัติเหตุในพื้นที่รับผิดชอบควบคู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ซึ่งโดยทั่วไปเทศกาลสงกรานต์ประชาชนมักจะดื่มฉลองกันมากที่บ้าน เนื่องจากญาติพี่น้องจะกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตาในเทศกาลนี้ โดยให้ร้านค้า ร้านอาหาร ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหมู่บ้าน ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ไม่ขายในวัด หรือขายให้ผู้ที่กำลังอยู่ในอาการมึนเมาสุรา และขายได้เฉพาะเวลาที่กำหนดคือ 11.00-14.00 น.และ 17.00-24.00น.
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันที่ 9 เมษายน 2553 ซึ่งคาดว่าประชาชนบางส่วนจะเริ่มทยอยเดินทางกลับต่างจังหวัด กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดรณรงค์“สงกรานต์สนุกได้...ไร้แอลกอฮอล์” ที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่ เพื่อสร้างกระแสให้คนไทยลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉลองเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจราจร และผลกระทบอื่นๆที่จะเกิดขึ้น เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโทษ พิษภัย จากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และในวันที่ 13 และ 18 เมษายน 2553 จะจัดกิจกรรมสืบสานประเพณี ที่เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี โดยจะมีการแห่ธงตะขาบ ขบวนแห่ข้าวแช่ของชาวมอญ การเล่นสะบ้ามอญ สาธิตการแกะสลักเครื่องปั้นดินเผา สรงน้ำพระสงฆ์ของชาวมอญ การประกวดหนูน้อยสงกรานต์ และการแสดงบนเวที
สำหรับบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ผู้ที่ขายหรือผู้ที่ดื่มในสถานที่ห้าม เช่น ในวัด สถานที่ราชการ โรงเรียน สวนสาธารณะจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากขายนอกช่วงเวลาที่กำหนดให้ขายได้คือ 11.00 – 14.00 น. และ 17.00- 24.00 น. มีโทษจำคุกไม่เกิน 2ปีหรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากขายแก่ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า20ปี มีโทษจำคุกไม่เกิน 1ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากมีการโฆษณาส่งเสริมการขาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
************************************ 7 เมษายน 2553