โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ป่วยที่เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก 2 รายที่อำเภอโพทะเล และกิ่งอำเภอดงเจริญ จังหวัดพิจิตร พบเป็นเพียงติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วไป โดยรายที่เป็นหญิงอายุ 29 ปีให้กลับบ้านได้แล้ววานนี้ ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามเฝ้าระวังอาการอีก 10 วัน ส่วนผลการตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ ปอดบวม ปอดอักเสบ 200 ราย ใน 42 จังหวัด ทั่วประเทศ ยังไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กรณีพบผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดนก 2 รายที่จังหวัดพิจิตรจากหมู่บ้านวังงิ้วใต้ กิ่งอ.ดงเจริญ และจากตำบลท่าบัว อ.โพทะเล เนื่องจากในหมู่บ้านพบมีสัตว์ปีกป่วย และมีนกอพยพถ่ายมูลลงมาในหมู่บ้านว่า เมื่อเย็นวานนี้ (26 มกราคม 2550) ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เขต 8 จังหวัดนครสวรรค์ ได้ส่งผลการตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนก ของผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 รายว่าให้ผลเป็นลบ ไม่พบเชื้อไข้หวัดนกแต่อย่างใด พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ทั่วไป โดยรายแรกเป็นชายอายุ 37 ปี ชาวตำบลท่าบัว อำเภอโพทะเล ซี่งเสียชีวิตหลังจากที่ญาตินำส่งโรงพยาบาลได้ 1 วัน สาเหตุการเสียชีวิต เนื่องจากชายดังกล่าวมีโรคประจำตัวหลายโรค และเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่อาการจึงทรุดลงอย่างรวดเร็ว ส่วนอีก 1 รายเป็นหญิงอายุ 29 ปี บ้านวังงิ้วใต้ กิ่งอำเภอดงเจริญ ซึ่งป่วยหลังจากสัมผัสซากสัตว์ปีกตาย โดยไม่มีการป้องกัน ขณะนี้แพทย์โรงพยาบาลบางมูลนากให้กลับบ้านแล้ว และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่สถานีอนามัยวังงิ้วใต้ ติดตามเฝ้าระวังอาการเป็นกรณีพิเศษอีก 10 วัน นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อไปว่า ผลการเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ รวมทั้งผู้ป่วยที่ปอดอักเสบ ปอดบวม ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 - 26 มกราคม 2550 มีทั้งหมด 251 ราย จาก 42 จังหวัด ตลอดวันที่ 26 มกราคม 2550 ได้รับรายงานรวม 35 ราย จาก 12 จังหวัด ดังนี้ สุพรรณบุรี 13 ราย สุรินทร์ 5 ราย กรุงเทพมหานคร 4 ราย พิษณุโลก 3 ราย ชัยนาทและสระบุรี จังหวัดละ 2 ราย นนทบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราการ สระแก้วและเลย จังหวัดละ 1 ราย ผลการตรวจยืนยันเชื้อยังไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการอีก 51 ราย อย่างไรก็ตาม หากประชาชนพบสัตว์ปีกป่วยหรือตาย หรือนกอพยพถ่ายมูลลงมาในบ้าน อย่าตกใจ และอย่าจับสัตว์ปีกด้วยมือเปล่า หากจะเก็บซากไปทิ้งหรือทำลาย หรือเช็ดทำความสะอาดบ้านเรือน ต้องป้องกันตัวเองโดยใส่ถุงมือยาง หรือสวมในถุงพลาสติกหนาๆ ไม่มีรอยรั่ว และใช้ผ้าปิดปากและจมูก และทำความสะอาดร่างกายหลังทำความสะอาดบ้านเรือน ที่สำคัญที่สุดต้องล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคไม่ให้แพร่กระจายสู่ร่างกายได้ ถ้าจะฝังซากสัตว์ต้องให้ห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือบ่อน้ำ อย่างน้อย 30 เมตร โดยขุดหลุมฝังให้ลึกอย่างน้อย 1 เมตร และโรยปูนขาวหรือราดน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือราดน้ำเดือดที่ซากสัตว์ปีก แล้วกลบดินให้แน่น หรือใช้วิธีเผาก็ได้ นายแพทย์สุพรรณ กล่าว มกราคม7/9 *************************************** 27 มกราคม 2550


   
   


View 12    27/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ