กรมควบคุมโรค เตือนช่วงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนที่เดินทางไปท่องเที่ยวทางน้ำ  โดยสารเรือ หรือทำกิจกรรมทางน้ำ เพื่อความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการตกน้ำ จมน้ำ ควรใส่ชูชีพ ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยทางน้ำ และงดดื่มแอลกอฮอล์  
          วันนี้ (30 ธันวาคม 2567) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในทุกปีมีคนไทยจมน้ำเสียชีวิตเกือบ 4,000 คน หรือวันละเกือบ 10 คน ช่วงเทศกาลปีใหม่เป็นวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายวัน แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ เป็นหมุดหมายหนึ่งที่สำคัญของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ในประเทศไทยพบว่าปัจจัยเสี่ยงจากการจมน้ำในกลุ่มอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป เป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านตัวบุคคลมากที่สุด (ร้อยละ 63.0) รองลงมาคือ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม กายภาพ/สังคม (ร้อยละ 25.3) และปัจจัยด้านเรือ/กระแสน้ำ (ร้อยละ 11.7) 
          ซึ่งปัจจัยเสี่ยงทางด้านบุคคลมีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุด รองลงมาคือ วิถีชีวิต (ซักล้าง/ตกปลา/เก็บหอย/เก็บผัก) ส่วนปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมีสาเหตุจากน้ำลึก ไม่มีรั้ว พื้นผิวลื่น มากที่สุด รองลงมาคือ ผู้สูงอายุ ผู้พิการขาดการดูแล ส่วนปัจจัยด้านเรือ/กระแสน้ำ มีสาเหตุจากกระแสน้ำ/สภาพอากาศมากที่สุด รองลงมาคือ เรือไม่ปลอดภัย และข้อมูลจากระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำ ของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค (ปี 2563 - 2567) พบว่า คนที่จมน้ำเสียชีวิต ไม่ใส่เสื้อชูชีพ ถึงร้อยละ 88.1 
          นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอแนะนำให้ประชาชนป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ  จากการตกน้ำ จมน้ำ โดยเริ่มจากตัวเรา คือ “ชูชีพ กฎ งดดื่ม” หรือกล่าวได้ว่า ใส่ชูชีพทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ โดยเลือกใช้เสื้อชูชีพที่ได้มาตรฐาน มีขนาดพอดีกับตัว รัดสายทุกจุด ปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยทางน้ำ เช่น เล่นน้ำบริเวณที่กำหนด ปฏิบัติตามป้าย/คำเตือน ไม่เล่นน้ำคนเดียว ไม่เล่นในบริเวณคลื่นลมแรง งดดื่มแอลกอฮอล์เมื่ออยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือทำกิจกรรมหรือลงไปในน้ำ นอกจากนี้ การเลือกสีชุดว่ายน้ำ ก็มีความสำคัญโดยมีความแตกต่างกันทั้งในสระว่ายน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยชุดว่ายน้ำสีเหลืองสะท้อนแสง สีส้มสะท้อนแสง  และสีเขียวสะท้อนแสง เป็นสีที่สามารถเลือกใส่ได้ทั้งในสระว่ายน้ำ และแหล่งน้ำธรรมชาติ      กรมควบคุมโรคมีความห่วงใยประชาชนโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดีและมีความปลอดภัย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422.

**********************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 30 ธันวาคม 2567



   
   


View 82    30/12/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ