กรมควบคุมโรค ห่วงใยผู้สูงอายุ ชวนลูกหลานปรับปรุงห้องน้ำให้ปลอดภัย ห่างไกลอุบัติเหตุหกล้ม
- สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
- 55 View
- อ่านต่อ
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยอยากเห็นคนไทยสุขภาพดี เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ จึงขอแนะนำลูกหลานส่งมอบความห่วงใย ด้วยการปรับห้องน้ำให้ปลอดภัย ห่างไกลจากหกล้ม เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้สูงอายุในครอบครัว
วันนี้ (24 ธันวาคม 2567) นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุ ร้อยละ 20 หรือกว่า 12 ล้านคน การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและความเสื่อมตามวัย ทำให้พบปัญหาสุขภาพที่สำคัญคือ การบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม จากรายงานการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุหกล้มทุกปี หรือประมาณ 4 ล้านคน และร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุที่หกล้มได้รับบาดเจ็บ ร้อยละ 16 ถูกนำส่งโรงพยาบาลด้วยระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ซึ่งเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลสูงเป็นอันดับ 1 ของผู้ป่วยใน กว่า 70,000 รายต่อปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาด บนพื้นระดับเดียวกัน ร้อยละ 63 ซึ่งสถานที่หกล้มของผู้อายุส่วนใหญ่เกิดภายในบ้าน โดยเฉพาะในห้องน้ำ พบมากถึงร้อยละ 30 ส่งผลให้ผู้สูงอายุเกิดความพิการและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตได้กว่า 1,600 คนต่อปี
ขอแนะนำลูกหลานส่งมอบความห่วยใย เลือกปรับห้องน้ำให้ผู้สูงวัยในครอบครัวปลอดภัย ป้องกันการลื่นล้ม เป็นของขวัญในช่วงเทศกาลปีใหม่ ดังนี้ 1) ปรับพื้นให้เรียบเสมอกันใช้กระเบื้องกันลื่น หรือใช้แผ่นรองกันลื่น 2) ปรับโถส้วมเป็นแบบชักโครก หรือแบบนั่งราบ เพื่อให้ผู้สูงอายุนั่งได้สะดวกสบาย 3) ติดราวจับบริเวณที่อาบน้ำและโถส้วม 4) จัดหาเก้าอี้สำหรับนั่งอาบน้ำที่มั่นคง 5) ติดไฟให้แสงสว่างเพียงพอ 6) ปรับประตูห้องน้ำให้เป็นแบบ บานเลื่อน 7) มีกริ่งหรือปุ่มกดแจ้งเตือนเมื่อหกล้ม เพื่อให้ลูกหลานที่อยู่ข้างนอกทราบ
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มสามารถป้องกันได้ หากครอบครัวตระหนัก เข้าใจถึงความเสี่ยง และร่วมปรับเปลี่ยนให้ผู้สูงอายุสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้หากพบเห็นผู้สูงอายุหกล้ม ให้ตั้งสติพร้อมประเมินความปลอดภัย และหากพบอวัยวะผิดรูป ห้ามเข้าไปอุ้มหรือเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ ให้รีบ โทร.1669 เพื่อขอความช่วยเหลือจากระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
****************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 24 ธันวาคม 2567