โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เผย นโยบายด้านอาหารและโภชนาการในปัจจุบัน เริ่มมีการบูรณาการอย่างครอบคลุมทั้งระบบ โดยเน้นครอบครัวและชุมชนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ด้านอาหารและโภชนาการให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดี รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ โดยเพิ่มศักยภาพในการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนางานโภชนาการ    และขับเคลื่อนนโยบายสำคัญให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาด้านโภชนาการทั้งภาวะโภชนาการเกิน ภาวะโภชนาการขาดส่งผลต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ให้ครอบคลุมด้านการป้องกันโรค การส่งเสริมการรักษา การฟื้นฟูร่างกาย ลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วย โดยได้ให้ความสำคัญในการดูแลด้านโภชนาการผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เพื่อลดอัตราการเกิดภาวะทุพโภชนาการระหว่างเข้ารับการรักษา เนื่องจากการดูแลด้านโภชนบำบัดเป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญในการดูแลผู้ป่วย จากรายงานการเกิดภาวะทุพโภชนาการภายในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ปี 2563 ที่ผ่านมา พบร้อยละ 40 ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล ถ้าไม่ได้รับการจัดการด้านโภชนบำบัด จะส่งผลทำให้ภาวะเจ็บป่วยมีความรุนแรงขึ้น และนอนโรงพยาบาลนานขึ้น

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวต่อว่า จากรายงานข้อมูลตัวอย่างภายในโรงพยาบาลราชวิถี พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลด้านโภชนาการระหว่างเข้ารับการรักษา มีภาวะโภชนาการดีขึ้นร้อยละ 44.6 และภาวะโภชนาการคงที่ร้อยละ 13.07 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลราชวิถีถือเป็นแม่ข่ายหลักที่นำระบบการคัดกรองและประเมินภาวะโภชนาการผู้ป่วยด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และแอพลิเคชั่นในการคำนวณพลังงานและสารอาหารมาใช้กับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดทุพโภชนาการได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแก่ภาคีเครือข่ายมากกว่า 70 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ทำให้เกิดระบบเครือข่ายที่ดีร่วมกัน และยังส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลด้านโภชนบำบัดโดยใช้ฐานข้อมูลเดียวกันทุกหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์

นายแพทย์พัทธวุฒิ จันทูปมา นายแพทย์ชำนาญการ ด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม โรงพยาบาลราชวิถกล่าวเพิ่มเติมว่โรงพยาบาลราชวิถี ได้มีการทำงานร่วมกันของทีมสหสาขาวิชาชีพในการปฏิบัติงานด้านโภชนบำบัด ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักกำหนดอาหาร/โภชนากร และเภสัชกร โดยนำแบบคัดกรอง SPENT (SPENT screening Tool) และแบบประเมิน NAF (Nutrition Alert Form) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการคัดกรองและประเมินภาวะโภชนาการผู้ป่วยผู้ใหญ่  มาใช้ในการประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งได้รับการรับรองจากสมาคมผู้ให้อาหารทางหลอดเลือดดำ     และทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ให้เป็นเครื่องมือที่เป็นมาตรฐานอันหนึ่งในการดูแลด้านโภชนาการผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเรียกเก็บค่าชดเชยการรักษาพยาบาล จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการด้านสาธารณสุข ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด โดยการจัดกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมไทย และน้ำหนักสัมพัทธ์ฉบับ 6.3.4 (TDRG Version 6.3.4) ใช้ได้กับกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นอกจากนี้โรงพยาบาลราชวิถีได้มีการพัฒนาการนำเทคโนโลยีสารสนเทศการคัดกรองและประเมินภาวะโภชนาการเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน การวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้สามารถใช้ข้อมูลผู้ป่วยร่วมกันในการวางแผนการรักษาและจัดเก็บข้อมูลไว้เพื่อเรียกดูได้ตลอดเวลา โดยการติดตามภาวะโภชนาการผู้ป่วยผ่าน application ทำให้ช่วยลดระยะเวลาการดูแลผู้ป่วยแต่ละราย และสามารถจัดทำเป็นข้อมูลเชิงนโยบายในการพัฒนางานด้านโภชนบำบัดในหน่วยงานได้ นอกจากนี้การดูแลด้านโภชนบำบัดยังส่งผลให้การลดอัตราป่วย อัตราตายและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น

ในการนี้ โรงพยาบาลราชวิถี จึงจัดทำ โครงการ โภชนบำบัด ศาสตร์แห่งการป้องกันและรักษาผู้ป่วย “บริโภคอย่างไรให้คนไทยปลอดภัย ห่างไกลจากโรค” เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปติดตั้งให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศที่สนใจงานด้าน      โภชนบำบัด ทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลด้านโภชนบำบัดโดยใช้ฐานข้อมูลเดียวกันทุกหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ และภาคีเครือข่ายมากกว่า 70 โรงพยาบาล ที่ขอเข้าอบรมและติดตั้งโปรแกรม ทำให้สามารถรายงานผลเป็นระบบเดียวกัน สอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์โรงพยาบาลราชวิถี Excellent Research & Innovation (สร้างงานวิจัยและนวัตกรรมการแพทย์สู่ นโยบายสาธารณสุข) และสอดคล้องแผนการปฏิบัติราชการกรมการแพทย์ ในการบริการทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง              (High Technology Medical Services) เพื่อแสวงหาเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่/เทคโนโลยีระดับสูง ที่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาด้านการแพทย์ในการดูแลรักษาประชาชนเป็นสำคัญ อีกทั้งเป็นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อพัฒนาการจัดการด้านอาหารในมิติต่างๆ ได้แก่ ความมั่นคงอาหาร คุณภาพและความปลอดภัย และการบริหารจัดการ ให้เชื่อมโยงไปสู่การมีโภชนาการและสุขภาพที่ดีของผู้บริโภคต่อไป

 

*******************************************

 

#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี

#พัฒนาระบบการคัดกรองและประเมินภาวะโภชนาการผู้ป่วย

- ขอขอบคุณ -

          17 ธันวาคม 2567



   


View 30    17/12/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมการแพทย์