สธ.เผย "เชียงใหม่" น้ำท่วมคลี่คลาย รพ.ทุกแห่งให้บริการได้ปกติ สั่งเฝ้าระวัง 3 โรคหลังน้ำลด
- สำนักสารนิเทศ
- 0 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เผยมีผู้เสียชีวิตจาก “น้ำท่วม” เพิ่ม 1 ราย เหตุสำลักน้ำจนปอดติดเชื้อ บาดเจ็บเพิ่ม 220 ราย สูญหาย 1 ราย ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ "เชียงราย" ส่วน"สงขลา" น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านพัก รพ.สะเดา บุคลากรบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย ระดับน้ำเริ่มลดลง กำชับภาคใต้เฝ้าระวังใกล้ชิด เหตุอาจมีฝนเพิ่มขึ้นอีก เตือน 9 จังหวัดเสี่ยงน้ำล้นตลิ่งเตรียมพร้อมมาตรการด้านการแพทย์ ดูแลขวัญกำลังใจบุคลากร
วันนี้ (28 กันยายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมทางไกลเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 12/2567 ว่า สถานการณ์โดยรวมยังมี 19 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ที่ จ.เชียงราย จากการสำลักน้ำ ปอดติดเชื้อ รวมเสียชีวิตสะสม 52 ราย บาดเจ็บเพิ่ม 220 ราย สะสม 1,722 ราย และสูญหาย 1 ราย ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในเชียงราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 5 แห่ง ที่เชียงใหม่ 2 แห่ง และลำพูน 3 แห่ง รวมได้รับผลกระทบ 85 แห่ง ปิดให้บริการ 3 แห่ง ที่ รพ.สต.แม่ปูนล่าง จ.เชียงราย รพ.ลานนา 3 จ.เชียงใหม่ และ รพ.สต.ป่าแมต จ.แพร่ เปิดศูนย์พักพิงเพิ่มขึ้นรวมเป็น 131 แห่ง มีผู้รับบริการ 656 ราย ดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางแล้ว 24,871 ราย ยังคงพบน้ำกัดเท้าเข้ารับการรักษามากที่สุด ส่วนประเมินด้านสุขภาพจิต 32,508 ราย พบเครียดสูง 1,163 คน เสี่ยงซึมเศร้า 215 คน และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 30 คน โดยส่งต่อแพทย์แล้ว 225 คน
นพ.วีรวุฒิกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ใน จ.สงขลา พบว่า ในรอบ 2 วันที่ผ่านมา เกิดเหตุอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลกระทบต่อรพ.สะเดา บริเวณบ้านพัก โรงครัว โรงจอดรถ กลุ่มจิตเวชและยาเสพติด และโรงสูบน้ำ แต่ไม่ได้กระทบในส่วนให้บริการผู้ป่วย จึงยังให้บริการได้ตามปกติ โดยมีบุคลากรได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย จากการลื่นล้มขณะเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ ส่วนบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมบ้านพักได้ย้ายมาพักบริเวณอาคารอุบัติเหตุและอาคารแผนไทย ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำลดลงแล้ว แต่ยังเฝ้าระวังต่อเนื่องถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2567
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์สถานการณ์ในระยะถัดไป พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งใน 9 จังหวัด ได้แก่ ลำน้ำแม่ลาว จ.เชียงราย, แม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่, แม่น้ำวัง จ.ลำปาง จ.ตาก, แม่น้ำยม จ.แพร่ จ.สุโขทัย, แม่น้ำสงคราม จ.สกลนคร และลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร ส่วนพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 28-29 กันยายน 2567 ได้แก่ เชียงราย (อ.แม่ออน อ.ดอยสะเก็ด) และยะลา (อ.ธารโต) ได้กำชับให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัย ผู้ป่วย และกลุ่มเปราะบางในแต่ละพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่าภาพรวมทรัพยากรคงคลังและอัตราการใช้ยาและเวชภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่ยังมีเพียงพอ นอกจากนี้ ให้ดูแลช่วยเหลือ สร้างขวัญกำลังใจให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบด้วย ส่วนพื้นที่ภาคใต้ ภาพรวมสถานการณ์ค่อนข้างคลี่คลายแล้ว แต่วันนี้ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจมีฝนเพิ่มขึ้น
********************************** 28 กันยายน 2567