อย. ย้ำ! ซื้อเครื่อง CPAP ต้องมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 36 View
- อ่านต่อ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ กองทุนโลก สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขระดับภูมิภาค จัดประชุมเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาขีดความสามารถระบบห้องปฏิบัติการ เพื่อตอบสนองภัยคุกคามด้านสุขภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก
วันนี้ (24 กันยายน 2567) ที่โรงแรมเจ ดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการประชุม “An Inception Meeting : GC7 Integrated Laboratory Systems Strengthening strategic Initiative September 24, 2024, Bangkok, Thailand” โดยมี Ms.Dhamari Naidoo WHO SEARO นายสุริยัน วิจิตรเลขการ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute ; MI) นางสาวจินตนา ศรีวงษา ที่ปรึกษาเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขระดับภูมิภาค (Regional Public Health Laboratory Network) หรือ RPHL Network นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข นายสัตวแพทย์อธิวัฒน์ ปริมสิริคุณาวุฒิ ผู้อำนวยการกองความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องในเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขระดับภูมิภาค 12 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศสมาชิกอาเซียน และเนปาล ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี และติมอร์-เลสเต คณะทำงานและทีมวิทยากร เข้าร่วม โดยการประชุมนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง และเครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขระดับภูมิภาค ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนโลก (The Global Fund)
นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนโครงการนี้ และพร้อมให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคในการพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการในภูมิภาค เพื่อให้ระบบห้องปฏิบัติการของประเทศสมาชิกมีประสิทธิภาพ และมีความพร้อมในการตรวจจับการระบาดของโรคที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที นอกจากความพยายามในระดับชาติแล้ว แพลตฟอร์มห้องปฏิบัติการสาธารณสุขระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่ง ยังมีความสำคัญต่อการเสริมสร้างศักยภาพในระดับประเทศ การให้บริการวินิจฉัยที่มีคุณภาพสูง และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เครือข่ายห้องปฏิบัติการสาธารณสุขระดับภูมิภาค (RPHL Network) มีสมาชิก 14 ประเทศ ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน และเนปาล ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี และติมอร์-เลสเต ก่อตั้งขึ้นในเดือนตุลาคม 2562 ภายใต้วาระความมั่นคงสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda: GHSA) โดยตั้งเป้าที่จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการร่วมมือและวางแผนร่วมกันระหว่างสมาชิกและองค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ เพื่อเสริมสร้างระบบห้องปฏิบัติการระดับชาติสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพในระดับภูมิภาคและระดับโลก
นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวต่อว่า กิจกรรมของโครงการได้มาจากการประเมินสถานการณ์ที่จัดทำในเดือนธันวาคม 2565 และแผนงาน 5 ปี (2566–2570) ที่มุ่งเน้นการเสริมสร้างระบบห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญ ประกอบด้วย 1. มุ่งเน้น การพัฒนาขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในด้านสำคัญ เช่น แผนกลยุทธ์ห้องปฏิบัติการระดับชาติ ระบบบริหารงานคุณภาพ ความปลอดภัยทางชีวภาพและความมั่นคงทางชีวภาพ และการพัฒนากำลังคน 2. ส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและการแบ่งปันความรู้เพื่อตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3. มุ่งมั่นที่จะจัดตั้งสำนักงานเลขานุการของเครือข่าย RPHL ให้สามารถดำเนินงานได้เต็มที่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อโครงสร้างการกำกับดูแล ความยั่งยืนในระยะยาว และการสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก
นางสาวจินตนา กล่าวว่า บทบาทสำคัญของเครือข่ายในการเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญด้านห้องปฏิบัติการ การแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร การสนับสนุนจากกองทุนโลกถือเป็นเวลาที่เหมาะสมในการสร้างพื้นฐานของเครือข่ายต่อไป และจะเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิกเครือข่าย RPHL ผ่านโปรแกรมแบบมุ่งเป้า ปรับปรุงแนวทางและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในภูมิภาคผ่านแพลตฟอร์มการแบ่งปันความรู้ที่พัฒนาขึ้น และเพิ่มทักษะให้กับสำนักงานเลขานุการเครือข่าย RPHL เพื่อให้มีทรัพยากรและความร่วมมือที่ยั่งยืน ทำให้เครือข่ายสามารถตอบสนองต่อภัยคุกคามด้านสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนที่จะลุกลามเป็นโรคระบาด
นายสุริยัน กล่าวว่า สถาบันได้ร่วมมือกับเครือข่าย RPHL ในโครงการที่เป็นนวัตกรรมนี้ “ในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล มีความมุ่งมั่นที่จะใช้ความเชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาศักยภาพและความร่วมมือในระดับภูมิภาค เพื่อปรับปรุงกรอบการกำกับดูแลและระบบปฏิบัติการของเครือข่าย RPHL ผ่านการปรึกษาหารืออย่างมุ่งเป้าโปรแกรมการฝึกอบรม และการพัฒนาระบบ โดย สถาบันฯ จะสนับสนุนเครือข่ายนี้ให้เป็นผู้นำด้านการเฝ้าระวังสุขภาพในระดับภูมิภาคที่เป็นอิสระและยั่งยืนอย่างแท้จริง