นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโนโร (Norovirus) เป็นเชื้อไวรัสก่อโรคอุจจาระร่วง สามารถรับเชื้อจากการปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม มือ หรือวัสดุสัมผัสอาหารและนำเข้าปาก ซึ่งพบผู้ป่วยได้ในทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าวัยอื่น ผู้ป่วยมักเริ่มแสดงอาการหลังได้รับเชื้อ 12-48 ชั่วโมง โดยจะมีอาการอุจจาระร่วง อาเจียน ปวดท้อง ส่วนใหญ่จะไม่มีเลือดปนมากับอุจจาระ บางรายอาจมีอาการไข้และปวดศีรษะร่วมด้วย และจะมีอาการประมาณ 1-3 วัน ในกรณีอาการรุนแรงมีความเสี่ยงต่อภาวะร่างกายขาดน้ำอาจเกิดการช็อก ความดันโลหิตต่ำ และอาจเสียชีวิตได้ โดยสถานที่มีคนอยู่จำนวนมากมักพบการระบาดมากที่สุด เช่น โรงเรียน และมักตรวจพบมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เนื่องจากสภาวะอากาศที่เย็น ทำให้เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ดี ส่งผลให้อาหารและน้ำดื่มมีโอกาสปนเปื้อนสูงขึ้น นอกจากนี้ยังทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ได้ดี ทำให้แพร่กระจายเชื้อได้ง่ายและรวดเร็ว ดังนั้น ในช่วงฤดูหนาว มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นได้ 

นายแพทย์ยงยศ กล่าวว่า ปัจจุบันการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อไวรัสโนโร ส่วนใหญ่ใช้เทคนิคอณูชีววิทยา (Molecular) เนื่องจากไวรัสโนโรไม่สามารถเพาะเชื้อได้ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้บริการตรวจวินิจฉัยไวรัสโนโร เพื่อการสอบสวนโรค ในตัวอย่างผู้ป่วย ได้แก่ อุจจาระ อาเจียน รวมถึงตัวอย่างบริโภค เช่น น้ำดื่ม อาหาร และรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ ภายใน 2 และ 5 วันทำการ ตามลำดับ นอกจากนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังให้บริการตรวจอาหารปลอดภัยเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยตรวจในตัวอย่างน้ำและอาหาร และบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น น้ำดื่ม น้ำแข็ง ผักและผลไม้สด หอยนางรม รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ภายใน 10 วันทำการ ที่สำคัญกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความพร้อมให้บริการตรวจเพื่อการสอบสวนโรค และเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่ง) 

ทั้งนี้ จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 2567 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้วิเคราะห์ตัวอย่างเพื่อการสอบสวนโรคอุจจาระร่วงใน 16 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 175 ตัวอย่าง พบสารพันธุกรรมไวรัสโนโร 17 ตัวอย่าง คิดเป็น 9.71% ทั้งนี้ ไวรัสโนโรมีความหลากหลายทางพันธุกรรมและถูกจัดประเภทออกเป็นมากกว่า 10 กลุ่มย่อย (genogroups) ผลจากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโนโร ด้วยวิธี DNA sequencing พบไวรัสโนโรสายพันธุ์ GII.4, GII.3 และ GII.14 สัดส่วน 58.8%, 35.3% และ 5.9% ตามลำดับ เช่นเดียวกับทั่วโลก ที่พบไวรัสโนโรสายพันธุ์ GII.4 เป็นสาเหตุของโรคอุจจาระร่วงส่วนใหญ่ การติดตามสายพันธุ์และตรวจพบสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุการระบาดได้เร็ว เป็นสิ่งสำคัญในการประเมินแนวโน้มการระบาดตลอดจนการพัฒนาวัคซีน ช่วยสนับสนุนการควบคุมและป้องกันโรค

    


นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า ไวรัสโนโรไม่ใช่เชื้อโรคใหม่ มักพบมีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีการระบาดหนักในโรงเรียนบ่อยครั้ง ซึ่งบางทีเป็นข่าวเก่าหรือข่าวปลอม วนมาส่งใหม่ทำให้เข้าใจผิด คิดว่ากำลังระบาด  ดังนั้น ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก ควรติดตามข่าวสารข้อมูลจากแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ  อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญ  ในการป้องกันตัวเองจากไวรัสโนโร คือ ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาด อย่างน้อย 20 วินาที เป็นวิธีที่ดีที่สุด (เนื่องจากแอลกอฮอล์ ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโนโรได้) โดยล้างมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร หรือประกอบอาหาร รับประทานอาหารปรุงสุก หากเป็นอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นอาหารให้ร้อนจัดก่อนรับประทานทุกครั้ง และล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทาน สำหรับเด็กที่ป่วยด้วยไวรัสโนโร ควรหยุดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

“ทั้งนี้ โรงพยาบาลสามารถติดต่อสอบถามและส่งตัวอย่างเพื่อสอบสวนโรคได้ที่ ศูนย์ประสานงานการตรวจวิเคราะห์และเฝ้าระวังโรคทางห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี โทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 99248 หรือ 99614 หรือที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศ สำหรับการส่งตัวอย่างน้ำ น้ำแข็ง อาหาร และบรรจุภัณฑ์อาหาร สามารถส่งตัวอย่างและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์รวมบริการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 99968 หรือสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร โทรศัพท์ 0 2951 0000 ต่อ 99561 มือถือ 09 5565 7780นายแพทย์ยงยศ กล่าว
 



   
   


View 7    20/12/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์