ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ทุกจังหวัดชายแดนไทย – กัมพูชา โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้ว ยังเข้มงวดการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทั้งในคนและสัตว์ต่อเนื่อง หลังมีรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายที่ 7 ของประเทศกัมพูชา เป็นเด็กหญิงอายุ 5 ปี พี่ของผู้ป่วยเด็กชายรายที่ 6 ทั้ง 2 รายมีประวัติสัมผัสไก่ที่ป่วยตายในหมู่บ้านและนำมาปรุงอาหาร ย้ำประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกป่วย/ตาย และไม่นำมาปรุงอาหาร

       วันนี้ (11 กรกฎาคม 67) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากงานระบาดวิทยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว กรณีกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชาพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 รายล่าสุด เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 เป็นเด็กหญิงอายุ 5 ปี อาศัยอยู่จังหวัดตาแก้ว ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ นับเป็นผู้ป่วยรายที่ 7 ของกัมพูชาในปีนี้ โดยผู้ป่วยอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยรายที่ 6 ซึ่งเป็นน้องชายอายุ 3 ปี ที่ตรวจพบเชื้อก่อนหน้านี้ ทั้ง 2 รายมีประวัติสัมผัสไก่ที่ป่วยตายในหมู่บ้านและครอบครัวนำมาปรุงอาหาร จึงรับเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเข้าสู่ทางเดินหายใจโดยการสัมผัส ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ป่วยไข้หวัดนกที่พบในกัมพูชาส่วนใหญ่กลุ่มเสี่ยงสูงเป็นเด็ก โดยติดเชื้อถึง 6 ราย และเป็นผู้ใหญ่ 1 ราย ผู้ป่วยทุกคนมีประวัติการสัมผัสกับซากสัตว์ปีกหรือสัตว์ปีกที่กำลังป่วย
 
     นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดที่มีพรมแดนติดกัมพูชา โดยเฉพาะจังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีพรมแดนติดกับจังหวัดตาแก้วของกัมพูชา ได้ร่วมกับด่านควบคุมโรคชายแดนไทยกัมพูชา เข้มงวดการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโรงพยาบาลในทุกจังหวัดได้มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้น โดยซักประวัติผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปอดอักเสบทุกรายว่ามีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกหรือไม่ โดยเฉพาะปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุและเข้าโรงพยาบาลคราวละหลายคน เพื่อคัดกรองและแยกผู้ป่วยออกทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ ได้ประสานความร่วมมือกับปศุสัตว์จังหวัดในการเฝ้าระวังสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายไม่ว่าด้วยสาเหตุใด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อมาสู่สัตว์อื่นหรือคน

       สำหรับประชาชนทั่วไป ขอย้ำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หากจำเป็นต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ต้องสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือเพื่อป้องกัน ที่สำคัญ ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปปรุงอาหารหรือให้สัตว์อื่นกินเด็ดขาด หมั่นล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัสสัตว์ปีกด้วยน้ำ และสบู่ และหากมีอาการไข้ ไอ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ หรือผู้ที่มีอาชีพขนส่ง/ชำแหละ/ขายสัตว์ปีก หรือเกี่ยวข้องกับซากสัตว์ ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยตายด้วย

***************************** 11 กรกฎาคม 2567



   
   


View 844    11/07/2567   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ