รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันความพร้อมรับมือโรคไข้หวัดนกระลอกที่ 4 และมาตรการเข้มป้องกันเชื้อหวัดนกกลายพันธุ์เต็มที่ ดำเนินการทุกหมู่บ้านทุกวัน มีระบบตรวจวินิจฉัยเชื้อโรค รายงานผลแม่นยำภายใน 6-8 ชั่วโมง จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกว่า 10 ทีมบริการปรึกษาแพทย์ทั้งรัฐ-เอกชน ตลอด 24 ชั่วโมง เบื้องต้นสำรองยาต้านไวรัสไว้รองรับผู้ป่วย 80,000 ราย ส่วนเจ้าของฝูงเป็ดไล่ทุ่งติดเชื้อที่พิษณุโลก เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะติดตามเฝ้าระวังอาการ 10 วัน บ่ายวันนี้ (16 มกราคม 2550) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์พงษ์พันธ์ วงศ์มณี รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์ บุญชัย สมบูรณ์สุข รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และพล.ท.นายแพทย์มงคล จิวะสันติการ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ร่วมกันแถลงข่าว “ความพร้อมในการรับมือโรคไข้หวัดนก” นายแพทย์มงคล กล่าวว่า การควบคุมโรคไข้หวัดนกในระลอกที่ 4 นี้ มีความสำคัญมาก จะต้องเข้มข้นอย่างหนักทั้งในสัตว์และคน เพื่อป้องกันเชื้อไข้หวัดนกกลายพันธุ์ หรือโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จากการติดตามและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง พบว่าสถานการณ์ขณะนี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดได้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเอื้อต่อการแพร่ของเชื้อไวรัส รวมทั้งยังใกล้เทศกาลตรุษจีน ต้องมีการเคลื่อนย้ายและชำแหละสัตว์ปีกเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ธันวาคม 2549-ปัจจุบัน พบสัตว์ปีกป่วย/ตายใน 26 จังหวัดทั่วประเทศ และล่าสุดมีรายงานยืนยันการติดเชื้อไข้หวัดนกในเป็ดที่จังหวัดพิษณุโลก ดังนั้น จึงต้องดำเนินมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดมาสู่คนได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยเกิดโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกและคน 36 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน ตาก พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุทัยธานี พิจิตร อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สิงห์บุรี นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ นครนายก จันทบุรี อุดรธานี หนองบัวลำภู นครพนม ขอนแก่น สุรินทร์ ศรีสะเกษ กระบี่ นราธิวาส สงขลา และ กทม. สำหรับตำบลพลายชุมพล อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในเป็ดไล่ทุ่งนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ได้ส่งเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ลงไปที่บ้านเจ้าของเป็ดดังกล่าว ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 5 คน ในจำนวนนี้เป็นคนงานเลี้ยงเป็ด 3 คน เพื่อเฝ้าระวังอาการต่อเนื่องเป็นเวลา 10 วัน ขณะนี้ทุกคนสบายดี นายแพทย์มงคล กล่าวต่อว่า ในการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก จะดูทุกตารางนิ้ว โดยให้อสม. 800,000 คน เป็นกำลังสำคัญในการจับตาการเจ็บป่วยของสัตว์ปีกและคนในหมู่บ้าน คนละ 10 หลังคาเรือน ร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย หากพบผู้ป่วยแค่มีอาการที่ต้องสงสัย เช่น มีไข้ ไอ จะทำการซักประวัติการสัมผัสกับสัตว์ปีกป่วย/ตายโดยละเอียด และส่งรักษาที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทันที ขณะเดียวกันจะมีทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งมีทั้งหมด 1,030 ทีมทั่วประเทศ ออกไปเพื่อควบคุมป้องกันโรคที่บ้านผู้ป่วยและชุมชน เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ขณะนี้ดำเนินการทุกวัน ยังไม่มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกแม้แต่รายเดียว ด้านการรักษา ขณะนี้กรมการแพทย์เตรียมพร้อมความรู้ ความแม่นยำของแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยโรค ได้จัดอบรมแพทย์ในพื้นที่ภาคกลางไปแล้ว จะขยายผลให้ครบทุกภาคภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเน้น ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่ รวมถึงไข้เลือดออก โรคมือ เท้า ปาก และโรคปอดอักเสบ และจะเพิ่มโรคไข้หวัดนิปาห์ในหมูด้วย ซึ่งแพทย์จะต้องวินิจฉัยให้ได้เพราะอาการใกล้เคียงกันมาก ขณะเดียวกัน ได้เตรียมพร้อมรับมือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โดยจะดำเนินการซักซ้อมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ในการรับมือ ระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชนที่อยู่ในเขตกทม. เนื่องจากมีประชากรมากถึง 1 ใน 6 ของประเทศ หากมีการระบาดเกิดขึ้น จะต้องควบคุมให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์-1 เดือน จึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเป็นขั้นตอน คาดว่าจะสำเร็จทั้งหมดในกลางปีนี้ และได้ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีทั้งอาจารย์แพทย์จากโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย และสังกัดอื่นๆ มากกว่า 10 ทีม พร้อมที่จะให้คำปรึกษาแก่แพทย์ทั่วประเทศ ในการรักษาผู้ป่วย ตลอด 24 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้โรงพยาบาลทุกระดับทั่วประเทศ พัฒนาห้องแยกปลอดเชื้อ สำหรับผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกโดยเฉพาะมากกว่า 800 ห้อง ทั้งนี้ ได้ให้องค์การเภสัชกรรมสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ (Oseltamivir) จำนวน 800,000 แคปซูล รองรับผู้ป่วยได้ 80,000 รายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ (ผู้ป่วย 1 ราย กินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น 5 วัน รวม 10 เม็ด) และหากมีการระบาดเพิ่มขึ้น ก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกวันละ 400,000 แคปซูล ส่วนยาอื่นๆ เช่น ยาแก้ไข้ แก้ไอ หรือแก้เจ็บคอ ยืนยันสามารถรับมือได้เต็มที่ ประชาชนไม่ต้องกังวล สำหรับการตรวจวินิจฉัยยืนยันโรคไข้หวัดนก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 12 แห่งทั่วประเทศ และรถตรวจเคลื่อนที่ 2 คัน พร้อมเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดทันที ได้มีการจัดทำแผนและซักซ้อมความพร้อมของเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกคน ให้สามารถตรวจวินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว ภายใน 6-8 ชั่วโมง ล่าสุดมีจังหวัดต่างๆ ส่งตัวอย่างเสมหะในลำคอและเลือดของผู้ป่วยที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวัง เพื่อตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนก เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่า ซึ่งหมายถึงการทำงานอย่างเข้มข้นของกระทรวงสาธารณสุข ในการเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ป่วย อย่างไรก็ดี หากประชาชนสงสัยเรื่องโรคไข้หวัดนก ไม่ว่าจะเป็นอาการป่วย การป้องกันโรค หรือการรักษา รวมทั้งวิธีกำจัดซากสัตว์ที่ถูกวิธี สามารถโทรสอบถามได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการโรคไข้หวัดนก ซึ่งอยู่ที่อาคาร 2 ชั้น 3 กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 02-590-3333 ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีเจ้าหน้าที่ให้บริการ 20 คู่สาย และสามารถเพิ่มกำลังสมทบได้อีก 3 เท่าตัว ตลอดภาคเช้าวันนี้ (16 มกราคม 2550) มีประชาชนโทรสอบถามแล้ว 11 ราย ส่วนใหญ่ถามเรื่องการทำลายซากสัตว์ปีก และอาการโรคไข้หวัดนกในคน *********************************** 16 มกราคม 2550


   
   


View 11    16/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ