5 ทศวรรษ อย. บนเส้นทางคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ พร้อมเดินหน้าพัฒนาทุกมิติ ขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทยให้มั่นคงและยั่งยืน
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 45 View
- อ่านต่อ
เมื่อวันที่ (23 มีนาคม 2566) ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น นาดา ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันควบคุมโรคอุบัติใหม่และเวชศาสตร์เขตเมือง ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เพื่อระดมความคิดเห็น วิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อม ด้านการป้องกันควบคุมโรคอุบัติใหม่และภัยสุขภาพเขตเมือง (SWOT analysis) อย่างมีส่วนร่วม
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับโรคอุบัติใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS) โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคโควิด 19 ส่งผลกระทบให้เกิดการเจ็บป่วย และเสียชีวิต การเกิดโรคอุบัติใหม่แต่ละครั้งมีโอกาสแพร่ระบาดเป็นวงกว้างและรวดเร็ว จนอาจเกิดเป็นวิกฤต อีกทั้งเชื้อก่อโรคมีการกลายพันธุ์พร้อมต่อการแพร่ระบาดตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่จุดเริ่มต้นการระบาดมักมาจากพื้นที่เขตเมือง โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเปราะบาง ที่ต่อมามีการขยายใหญ่จนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลก ประกอบกับเขตเมืองมีความซับซ้อนทั้งทางสังคม ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และระบบบริการสุขภาพที่หลากหลาย รวมถึงวิถีชีวิตที่ส่งผลต่อสุขภาพ มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อ โรคติดต่อ และโรคอุบัติใหม่ การจัดการปัญหามีความท้าทายและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อควบคุมจำกัดการระบาดของโรค และลดผลกระทบ ทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ
นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า เครือข่ายที่ร่วมประชุมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคีภาคส่วนสุขภาพ (Health Sector) และภาคส่วนอื่นๆ (Non Health Sector) ทั้งภายใน และภายนอกกระทรวงสาธารณสุข อาทิ กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมปศุสัตว์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร (ศูนย์เอราวัณ) สำนักงานเขตบางเขน สำนักการแพทย์ และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 70 คน ซึ่งความร่วมมือนี้ถือว่ามีความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นได้ การประชุมจัดทำแผนนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพของประเทศระยะ 20 ปี ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อสร้างความเข้มแข็งของระบบป้องกันควบคุมโรคของประเทศไทย
*****************************
ข้อมูลจาก : สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 25 มีนาคม 2566