ทีม SEhRT กรมอนามัย ประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน จากเหตุไฟไหม้โรงงานกระดาษรีไซเคิล จังหวัดระยอง
- กรมอนามัย
- 28 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (20 มีนาคม พ.ศ. 2566) ที่โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัส แวนด้า แกรนด์ ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาสมรรถนะห้องปฏิบัติการเครือข่ายและระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ” โดยมี ดร.นายแพทย์อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นักเทคนิคการแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์จากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เข้าร่วม
นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวว่า การดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นปัญหาระดับประเทศและระดับโลก ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 คน และหากไม่เร่งแก้ไขปัญหา ในปี พ.ศ. 2593 คาดการณ์การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาจะสูงถึง 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทยจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ประมาณปีละ 88,000 ราย โดยเสียชีวิตประมาณปีละ 38,000 ราย คิดเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ปัญหาเชื้อดื้อยาเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ทั้งด้านสาธารณสุข ภาคการเกษตร สิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหา จึงต้องใช้หลักการสุขภาพหนึ่งเดียว โดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย และองค์กรอิสระต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา และองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้เชื้อดื้อยาเป็นวาระสำคัญ และได้กำหนดยุทธศาสตร์ในระดับโลกขึ้น เรียกว่า Global Action Plan เป็นแม่แบบกลยุทธ์การแก้ปัญหาแบบองค์รวม และเป็นระบบ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เสนอตั้งคณะกรรมการบูรณาการการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาขึ้น ประกอบด้วยตัวแทน จากหน่วยงานที่ที่เกี่ยวข้องทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยและองค์กรอิสระ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินโครงการบูรณาการ การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2540 ปัจจุบันมีโรงพยาบาลร่วมเป็นเครือข่ายทั้งสิ้น 112 แห่งจาก 77 จังหวัด ในจำนวนนี้มีโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย 8 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง จากความร่วมมือกันของเครือข่ายโรงพยาบาลและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำให้ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ (National Antimicrobial Resistance Surveillance, Thailand : NARST) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทางห้องปฏิบัติการที่เป็นระบบฐานข้อมูลของประเทศ อย่างไรก็ดีการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาทางห้องปฏิบัติการเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาได้ จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบเฝ้าระวัง แบบ Case-finding based ซึ่งเป็นการหาสาเหตุการติดเชื้อดื้อยาของผู้ป่วยว่าเกิดจากในโรงพยาบาลหรือในชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้นในปีนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่เครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา เพื่อทราบข้อมูลเชื้อดื้อยา ความรู้ใหม่ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ สร้างความร่วมมือระหว่างห้องปฏิบัติการเครือข่ายและกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ ในการขยายขอบข่ายการเฝ้าระวังและควบคุมเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพให้ตอบสนองการใช้งานทุกระดับ รวมทั้งแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยามีข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารการใช้ยาต้านจุลชีพ อย่างสมเหตุผล ลดโอกาสและความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย” นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวทิ้งท้าย
************** 20 มีนาคม 2566