ศูนย์วิทย์ฯที่ 3 นครสวรรค์-สสจ.ชัยนาท ร่วมอบรมพัฒนาศักยภาพ อสม.นักวิทย์ นำความรู้ไปถ่ายทอดในชุมชน  เพื่อป้องกันและลดป่วย-ตายจากมะเร็งปากมดลูก สร้างจังหวัดต้นแบบขยายสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่น

นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนเพื่อลดการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการ” โดยมี นายแพทย์พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยนาท นางจินตนา ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เทศบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วมอบรม ณ ห้องประชุมหลวงปู่ศุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท 

 

นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวว่า มะเร็งปากมดถูกเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก และเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นลำดับที่สองในสตรีไทย การติดเชื้อ Human papilloma virus (HPV) เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งการติดเชื้อ HPV มักไม่แสดงอาการ และมากกว่าร้อยละ 90 หายได้เอง โดยภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่หากไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในการทำลายเชื้อ การติดเชื้อคงอยู่เป็นเวลานาน เซลล์ที่ติดเชื้อจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นรอยโรคก่อมะเร็งและพัฒนาไปเป็นมะเร็งอาจทำให้เสียชีวิต โดย HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูง 14 สายพันธุ์ ได้แก่ 16, 18, 31, 33,35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 66 และ 68 การตรวจคัดกรองระยะเริ่มแรกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันความคุมโรค และการรักษาในระยะเริ่มแรกจะทำให้การรักษาได้ผล นำไปสู่การลดอัตราการเสียชีวิตได้ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ ซึ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวินิจฉัยสุขภาพแม่และเด็ก รับผิดชอบเป็นหน่วยตรวจคัดกรองในพื้นที่จังหวัดชัยนาท มีประชากรหญิงไทยอายุ 30-60 ปี เป้าหมายตรวจคัดกรองภายใน 5 ปี           (ปี 2563-2568) จำนวน 66,938 คน โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีเป้าหมาย 13,388 คน แต่ได้รับการตรวจคัดกรองเพียง 3,879 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 29.4 เท่านั้น 

 

นายแพทย์บัลลังก์ กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ เห็นความสำคัญดำเนินโครงการบูรณาการ “พัฒนาต้นแบบลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกแบบบูรณาการระดับจังหวัด”  ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท ซึ่งภายใต้โครงการดังกล่าว มีการพัฒนาอบรมให้ อสม.ผ่านการประเมินศักยภาพเป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการให้ความรู้สตรีในชุมชน กระตุ้นให้สตรีกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการตรวจคัดกรอง และช่วยในการติดตามให้ผู้ที่พบผลเสี่ยงสูงได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 นครสวรรค์ และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชัยนาท รวมถึงภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงและพัฒนากระบวนการ เน้นการทำงานแบบบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด (จังหวัดแรก) เพื่อให้หญิงไทยเป้าหมายเข้าสู่การตรวจ คัดกรอง วินิจฉัยและรักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดการเสียชีวิตของหญิงไทยจากมะเร็งปากมดลูก ช่วยให้ประเทศลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลและรักษาพยาบาล เกิดเป็นต้นแบบการดำเนินงานด้านมะเร็งปากมดลูกระดับจังหวัด และสามารถนำไปขยายผลให้เกิดประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งในภาพรวม     ของประเทศปี 2565 มีเป้าหมาย 3,135,528 คน แต่ได้รับการตรวจคัดกรองเพียง 613,254 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 19.6 เท่านั้น 

 

 

 “การอบรมในครั้งนี้มุ่งหวังพัฒนาความรู้ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้านมะเร็งปากมดลูก เพื่อยกระดับเป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน มีเป้าหมายให้ปฏิบัติงานที่หน่วยบริการในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ห่งละ 3 คน โดยดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถนำความรู้จากการอบรมไปใช้ในการดูแลสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในพื้นที่ และเป็นกำลังสำคัญช่วยให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกครบ 100% ภายใน 1 ปี ซึ่งจะสามารถป้องกันและลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้” นายแพทย์บัลลังก์ กล่าว



   
   


View 494    27/02/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ