รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกนโยบายเร่งระงับโรคไข้หวัดนก ไข้เลือดออก โรคร้อนจากพฤติกรรม ลดการเสียชีวิตและเศรษฐกิจ ด้านปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผลงานในรอบ 20 ปีนี้ ไทยประสบผลสำเร็จการแก้ปัญหาโรคไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดตับแข็งและมะเร็งตับ สามารถลดจำนวนเด็กติดเชื้อลงได้ปีละเกือบ 20,000 คน ชี้อันตรายผู้เป็นพาหะโรคมีโอกาสเป็นมะเร็งตับได้ ในปี 2551 นี้ จะเริ่มฉีดวัคซีนรวม 1 เข็ม ป้องกัน 4 โรคให้เด็กทั่วไทย เช้าวันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2551) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดสัมมนาวิชาการป้องกันควบคุมโรคแห่งชาติ ประจำปี 2551 ซึ่งในปีนี้เน้นประเด็น “หยุดโลกร้อน ระงับโรคร้ายและภัยสุขภาพ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 13 กุมภาพันธ์ 2551 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ โดยมีผู้บริหาร นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานทั่วประเทศ เข้าร่วมสัมมนากว่า 2,500 คน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาดและภัยสุขภาพที่มากับภาวะโลกร้อน รวมทั้งเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการด้านการป้องกันและควบคุมโรคต่างๆ การประชุมในครั้งนี้ ได้ประกาศความสำเร็จงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันควบคุมโรคไวรัสตับอักเสบบี ในรอบ 2 ทศวรรษ นายไชยา กล่าวว่า การป้องกันและควบคุมโรค เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญสูงสุดที่จะทำให้การดำเนินงานด้านสาธารณสุขสัมฤทธิ์ผล เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อไม่ให้คนไทยเจ็บป่วย มีชีวิตยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในวันนี้ได้มอบนโยบายให้ช่วยกันสานต่อ ประการแรกคือ โรคไข้หวัดนก เริ่มมีเค้าอาจจะกลับมาระบาดใหม่หากไม่ระมัดระวัง และมีผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงด้วย ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในคนอย่างแข็งขัน แต่หากพบผู้ป่วยติดเชื้อจากสัตว์ก็ไม่ให้เสียชีวิต ต้องรักษาให้ทันท่วงที และให้เตรียมพร้อมรับมือกับการะบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2.โรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่น ขอให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาในระยะยาว ประสานการทำงานกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียน 3.โรคที่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพซึ่งกำลังร้อนแรง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคเอดส์ นับวันปัญหาจะหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราแก้ปัญหาที่ปลายเหตุคือรักษาเมื่อป่วยแล้ว ทำให้ต้องลงทุนมหาศาล แค่เฉพาะปัญหาจากเหล้าเรื่องเดียว ส่งผลกระทบเศรษฐกิจปีละหลายหมื่นล้านบาท หรือโรคเอดส์ ต้องใช้งบประมาณซื้อยาดูแลรักษาให้ทั่วถึงปีละกว่า 5,000 ล้านบาท ทางแก้ที่จะสำเร็จและได้ผลยั่งยืน ขอให้เน้นหนักที่การแก้ปัญหาที่ตัวพฤติกรรมต้นเหตุ ต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายหลายหน่วยงาน ซึ่งเป็นการทำงานที่ยาก ต้องใช้เวลานาน แต่เชื่อว่าไม่เหนือบ่ากว่าแรงของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข นายไชยากล่าว ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า งานป้องกันควบคุมโรคที่เป็นผลงานโดดเด่นของไทยในรอบ 20 ปีงานหนึ่งคือการให้วัคซีนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค เช่น โปลิโอ หัด คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก สามารถทำได้ครอบคลุมเด็กไทยกว่าร้อยละ 90 สูงกว่าเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกกำหนดคือร้อยละ 80 โดยเฉพาะโรคตับอักเสบจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) นับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก และเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพ เนื่องจากเมื่อติดเชื้อในระยะแรกจะไม่มีอาการ บางรายใช้เวลานานหลายปีกว่าจะรู้ว่าติดเชื้อ ซึ่งอาจมีภาวะร้ายแรงแล้ว เช่น การเป็นโรคเกี่ยวกับตับ ซึ่งขณะนี้มีข่าวดารานักแสดงของไทย เป็นโรคเกี่ยวกับตับหลายคน โรคนี้หากเป็นในภาวะรุนแรงอาจต้องใช้เวลา และเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษา ประมาณว่าขณะนี้มีคนไทยติดเชื้อที่ไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้หรือเรียกว่าเป็นพาหะเกือบ 4 ล้านคน ในหญิงตั้งครรภ์พบเป็นพาหะ ร้อยละ 6 ประมาณการณ์ว่าหากประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละ 1 ล้านคน ถ้าไม่มีการใช้วัคซีน จะมีเด็กติดเชื้อจากแม่ที่เป็นพาหะปีละ 20,000-30,000 คน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคนี้ โดยการฉีดวัคซีนตับอักเสบบีให้แก่เด็กไทยอายุต่ำกว่า 1 ปี ทั่วประเทศ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ลดอัตราการเป็นพาหะในเด็กลง จากร้อยละ 5 เหลือไม่ถึงร้อยละ 1 และในปี พ.ศ. 2551 กรมควบคุมโรคได้จัดหาวัคซีนรวม 4 ชนิดในเข็มเดียว ป้องกันได้ 4 โรค ได้แก่ คอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-ไวรัสตับอักเสบบี ฉีดให้แก่เด็กขวบปีแรกซึ่งมีปีละประมาณ 800,000 คน ใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีประมาณ 2,000 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก เสียชีวิตปีละประมาณ 350-400 ล้านคน สำหรับไทยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับปีละประมาณ 11,000-12,000 คน และพบว่าร้อยละ 60 ของผู้ป่วยมะเร็งตับมีความสัมพันธ์กับโรคไวรัสตับอักเสบบี การให้วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี เป็นการป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุด โดยฉีดเข็มแรกให้แก่ทารกแรกเกิดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด จากนั้นฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-ไอกรน-บาดทะยัก-ไวรัสตับอักเสบบี อีก 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน การให้วัคซีนดังกล่าวนี้ จะส่งผลช่วยลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งตับ และโรคตับแข็งในอนาคตลงได้ด้วย ทั้งนี้ โรคไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อได้ 4 ทาง คือ 1.ทางเลือด จากการได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดที่มีเชื้อนี้ และติดจากการใช้ของมีคมร่วมกัน เช่น มีดโกน กรรไกรตัดเล็บ ซึ่งอาจมีเลือดที่มีเชื้อโรค เข้าตามรอยฉีกขาดของผิวหนัง และยังติดการใช้เข็มฉีดยา การเจาะหู การสัก การทำฟันที่ใช้อุปกรณ์ซึ่งไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง 2.ติดทางเพศสัมพันธ์ ผ่านทางน้ำคัดหลั่งจากช่องคลอดหรือน้ำอสุจิของผู้มีเชื้อ 3.ติดต่อทางน้ำลาย เช่น จากการใช้แปรงสีฟัน ใช้ช้อน หลอดดูดน้ำ แก้วน้ำร่วมกับผู้มีเชื้อ และ 4.ติดจากแม่ที่เป็นพาหะสู่ลูกขณะคลอด และอาจติดในกรณีที่แม่ที่เป็นพาหะเคี้ยวอาหารป้อนลูกได้ด้วย นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า ตลอดการสัมมนาวิชาการครั้งนี้ มีการนำเสนอผลงานวิชาการ 161 เรื่อง ทั้งโรคติดต่อ โรคไม่ติดต่อ โรคจากการประกอบอาชีพ โรคที่ติดจากการสัมผัส และมีการบรรยายที่น่าสนใจหลายเรื่องอาทิ ลดโลกร้อน... หยุดโรคภัย วัคซีนใหม่ โลกร้อน..สุขภาพร้อน โรคร้อนผลกระทบต่อโรคไม่ติดต่อ ระบบเตือนภัยภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ********************* 11 กุมภาพันธ์ 2551


   
   


View 14       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ