กระทรวงสาธารณสุข เปิดโรงพยาบาลหัวทะเล จังหวัดนครราชสีมา เป็นโรงพยาบาลประตำบลแห่งแรกในประเทศขนาด 30 เตียง ลดความแออัดผู้ป่วยที่โรงพยาบาลมหาราช โดยเน้นรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ คือไม่มีแผนกผู้ป่วยนอก แต่เป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากศูนย์สุขภาพชุมชนเครือข่าย เพื่อนอนพักรักษาในโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง วันนี้ (13 มกราคม 2551) ที่จังหวัดนครราชสีมา นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยแพทย์หญิงทิพย์วดี บำเพ็ญบุญ นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เป็นประธานพิธีเปิดโรงพยาบาลหัวทะเล ต.หัวทะเล อ.เมือง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำตำบลรูปแบบพิเศษแห่งแรกของประเทศ มีขนาด 30 เตียง จากนั้นในช่วงบ่ายเป็นประธานวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 ขนาด 200 เตียง ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณศูนย์สุขภาพจิตที่ 5 ต.โคกกรวด อ.เมือง เพื่อขยายการบริการ ลดความแออัดและการรอคิวตรวจของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลมหาราชจังหวัดนครราชสีมา ใช้งบประมาณเกือบ 400 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายปีนี้ นายแพทย์มงคลกล่าวว่า จากการประเมินการให้บริการของโรงพยาบาลศูนย์ พบว่าแต่ละแห่งมีภาระงานหนักมาก เนื่องจากประชาชนมีความต้องการรับการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลใหญ่ที่มีศักยภาพ มีความพร้อม ทั้งด้านบุคลากร และอุปกรณ์การแพทย์ที่เพียงพอ ทันสมัย จนเกิดความแออัดของผู้ป่วยนอก เช่น ที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกวันละประมาณ 3,000 ราย กว่าร้อยละ 80 ป่วยด้วยโรคทั่ว ๆ ไป ที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่มากทำให้แพทย์มีเวลาตรวจน้อยลง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ต้องการการดูแลที่ยุ่งยากซับซ้อน บริการจึงอาจไม่ทั่วถึง คุณภาพบริการลดลง ทำให้ผู้รับบริการเกิดความไม่พึงพอใจในความไม่สะดวกต่าง ๆ และการรอตรวจนานเกินไป ในการแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการ “บริการประทับใจ ไร้ความแออัด พัฒนาเครือข่ายบริการ” เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการให้สะดวกรวดเร็วขึ้น นำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ 13 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลแพร่ โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ จ.นครสวรรค์ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลศรีสะเกษ โรงพยาบาลชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช และโรงพยาบาลสงขลา เริ่มดำเนินการในปี 2549 – 2551 โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่แล้วให้เกิดผลดีต่อประชาชนมากที่สุด เสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งของสถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน นอกจากจะให้บริการตรวจรักษาผู้เจ็บป่วยเล็กๆ น้อย ๆ แล้ว ยังสามารถให้บริการผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องตรวจและกินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หอบหืดได้ ไม่ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ รวมทั้งเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคต่าง ๆ ดูแลคนปกติไม่ให้ป่วย ขณะนี้ทุกจังหวัดมีความคืบหน้าอย่างมาก นายแพทย์มงคลกล่าวต่อว่า ต้องขอชื่นชมจังหวัดนครราชสีมาเป็นอย่างมาก ที่คิดค้นพัฒนารูปแบบบริการประชาชนที่ตำบลหัวทะเล ในการลดความแออัดของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาอย่างเป็นระบบ มีการประสาน ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชนในพี้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับโรงพยาบาล ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในการถ่ายโอนภารกิจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยพัฒนาโรงพยาบาลรูปแบบใหม่ เป็นแห่งแรกที่ไม่มีแผนกผู้ป่วยนอก รับเฉพาะผู้ป่วยใน ผู้ป่วยหลังผ่าตัดและนอนพักฟื้น ใช้ศูนย์แพทย์ชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนในเครือข่ายเป็นแผนกผู้ป่วยนอกและตั้งอยู่ในชุมชนอยู่ใกล้บ้านแทน ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งแก่สถานบริการสาธารณสุขระดับต้น และพัฒนาเครือข่ายสุขภาพในพื้นที่ รวมทั้งได้เตรียมก่อสร้างโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา 2 แห่งใหม่ เพื่อให้ประชาชนรับบริการได้สะดวกยิ่งขึ้น ด้านร้อยเอกนายแพทย์วรัญญู สัตยวงศ์ทิพย์ รักษาการนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา ไม่มีโรงพยาบาลประจำอำเภอเมือง ผู้ป่วยจึงใช้บริการที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ทำให้ผู้ป่วยแออัดมาก บางครั้งต้องนอนตามทางเดิน หน้าลิฟต์ นอนเบียดกัน 3 คนใน 2 เตียง หรือนอนพื้น ในปลายปี 2549 จึงได้เริ่มโครงการพัฒนาโรงพยาบาล “บริการประทับใจ ไร้ความแออัด พัฒนาเครือข่ายบริการ” โดยพัฒนาศูนย์สุขภาพชุมชนให้มีความพร้อมและยกฐานะเป็นศูนย์แพทย์ชุมชนเมืองในเครือข่าย รพ.มหาราชนครราชสีมา มีแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทันตแพทย์ให้บริการตรวจรักษาตลอด 24 ชั่วโมง จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ ศูนย์แพทย์ชุมชน(ศพช.)ศีรษะละเริง ศพช.โพนสูง ศพช.มะค่า ศพช.หนองปลิง ศพช.หัวทะเล ศพช.วัดบูรพ์ ศพช.โนนฝรั่ง และศพช.วัดป่าสาละวัน สำหรับโรงพยาบาลหัวทะเล ได้รับความร่วมมือจากเทศบาลตำบลหัวทะเลให้ใช้อาคารเก่าของเทศบาลตำบลหัวทะเล และสนับสนุนครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมงบประมาณ 4.6 ล้านบาท รวมทั้งจ้างพนักงานลูกจ้างเทศบาล รวม 13 ตำแหน่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาสนับสนุนบุคลากร ได้แก่ แพทย์ 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 7 คน วัสดุครุภัณฑ์ทางการแพทย์และสำนักงาน 3 ล้านบาท และได้รับบริจาคเตียงจากสมาคมชาวไต้หวันในประเทศไทยจำนวน 30 เตียง ผลการดำเนินงานภายหลังเปิดดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม - ธันวาคม 2550 รับผู้ป่วยพักรักษาตัว 115 ราย ส่วนที่ศูนย์สุขภาพชุมชน มีประชาชนที่ป่วยฉุกเฉิน หรือป่วยทั่วไปเข้ารักษารวม 812 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ประมาณ 20 เปอร์เซนต์ ************************************ 13 มกราคม 2551


   
   


View 15       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ