รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กำชับหน่วยบริการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกายและจิต ต่อเนื่องจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ให้โรงพยาบาลในจังหวัดที่เป็นเส้นทางน้ำชีและมูลไหลผ่านลงแม่น้ำโขง เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับหากเกิดน้ำหลากผลการปฏิบัติงานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชน 4,622 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไข้ ไข้หวัด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และร้อยละ 74 สุขภาพจิตอยู่ในภาวะปกติ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) กรณีสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่ม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่าศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยผู้ประสบภัย ได้กำชับให้ดูแลผู้ประสบภัยทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ รวมทั้งดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ยังคงให้การดูแลประชาชนแม้ว่าตนเองจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมเช่นกัน ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีข้อสั่งการ ดังนี้ 1.ให้โรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ลำน้ำชีและมูลไหลผ่านลงสู่แม่น้ำโขง ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เฝ้าระวังสถานการณ์ในระยะ 7 วันนี้ต่อเนื่อง แม้ว่าฝนจะลดลงแต่อาจเกิดน้ำหลากในบางพื้นที่ และเตรียมพร้อมแผนรับมือน้ำท่วม โดยป้องกันความเสียหายสถานบริการ อุปกรณ์การแพทย์ และแผนการจัดบริการหากเกิดน้ำท่วมโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้กระทบบริการผู้ป่วย
2.ให้ช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ได้รับความเสียหายเช่น โรงพยาบาลสกลนคร และโรงพยาบาลพังโคน จ.สกลนคร ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเร่งของบสนับสนุนเพิ่มเติมในการซ่อมแซมอาคาร ระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย และจัดซื้ออุปกรณ์ทดแทนที่เสียหายเพื่อให้โรงพยาบาลดำเนินการได้ตามปกติ 3.การเตรียมสำรองยา เวชภัณฑ์ ให้เพียงพอช่วยเหลือผู้ประสบภัยจนถึงสิ้นปี โดยประสานองค์การเภสัชกรรมผลิตยาชุดน้ำท่วมเพิ่มอีกเกือบ 150,000 ชุด รวมทั้งจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ สารเคมีปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมอีกประมาณ 2 ล้านบาทและ4.ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ ป้องกันโรคที่พบบ่อยในพื้นที่มีน้ำท่วมขังและพื้นที่ที่น้ำลดแล้ว เช่น ไข้หวัดใหญ่ ไข้ฉี่หนู อุจจาระร่วง โรคเมลิออยโดสิส
นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวต่อว่าจากการติดตามสถานการณ์พบว่าขณะนี้ยังมีน้ำท่วมขังใน 10 จังหวัด สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 21 แห่ง เปิดให้บริการปกติ 19 แห่ง ยังมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 2 แห่ง คือ รพ.สต.โพกน้อย จ.สกลนคร และรพ.สต.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ย้ายจุดบริการในจุดเพื่อให้ประชาชนรับบริการได้สะดวก ระหว่าง 28 กรกฎาคม – 7 สิงหาคม 2560 ได้รับรายงานผู้เสียชีวิต 28 รายใน 8 จังหวัด ส่วนใหญ่ถูกกระแสน้ำเชี่ยวพัด พลัดตกน้ำท่วมและแหล่งน้ำธรรมชาติ ขณะนี้ ยังจัดทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ ทั้งทีมเมิร์ท (MERT) และมินิเมิร์ท (miniMERT) ให้บริการตรวจรักษา ให้สุขศึกษา และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การดูแลรักษาผู้ประสบภัยต่อเนื่อง มีผู้รับบริการ 4,622 คน ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไข้ ไข้หวัด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไม่มีรายงานการระบาดของโรคติดต่อสำหรับการประเมินภาวะสุขภาพจิตของทีมให้การช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต(MCATT)จำนวน 575 คน พบว่าร้อยละ 74 อยู่ในภาวะปกติ มีเพียง 4 คนที่เสี่ยงภาวะซึมเศร้า ได้ส่งทีมจิตแพทย์จากโรงพยาบาลจิตเวช และศูนย์สุขภาพจิตในพื้นที่ให้การดูแลต่อเนื่องรวมทั้งค้นหาติดตามผู้ป่วยจิตเวชเดิมไม่ให้มีปัญหาขาดยา
*********************************** 8 สิงหาคม 2560
*****************************
View 28
08/08/2560
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ