กระทรวงสาธารณสุข ส่งสมุนไพรไทยชุดน้ำท่วมช่วยจังหวัดน้ำท่วมเพิ่มเติม กำชับสถานบริการเสี่ยงน้ำท่วมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง และให้ทุกพื้นที่ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพประชาชนต่อเนื่อง รวมทั้งเฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วม  

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้(17 มกราคม 2560) ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สถานการณ์อุทกภัยภาคใต้ รายงานการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ขณะนี้ยังมีสถานการณ์ใน 6 จังหวัดได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานีและประจวบคีรีขันธ์  โดยทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ระดับตติยภูมิ ในภาวะภัยพิบัติ(MERT)ทีมแพทย์สนามฉุกเฉิน(Mini MERT)และทีมปฐมพยาบาลจากทั่วประเทศยังหมุนเวียนสบทบกับทีมในพื้นที่จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ต่อเนื่อง ทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ(MCATT)ดูแลประชาชน วันละกว่า 140  ทีม  เน้นดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง เด็กและผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงโดยได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ลงพื้นที่น้ำท่วมแล้ว 304,500 ชุด พร้อมสารส้ม คลอรีน รองเท้าบู๊ท เสื้อชูชีพ ยากันยุง ถุงดำ ปูนขาว เป็นต้น  

โดยในวันนี้ได้มอบผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรไทยชุดน้ำท่วม ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นำไปมอบให้ 5 จังหวัดประสบภัย จำนวน 2,500 ชุด ประกอบด้วย 1.ฟ้าทะลายโจร รักษาอาการเจ็บคอ รักษาอาการท้องเสียแบบไม่ติดเชื้อ 2.ยาสมุนไพรน้ำกัดเท้า แก้ผิวหนังเปื่อย รักษาเชื้อรา 3.ยานวดบาล์มสมุนไพรไพลสด บรรเทาอาการผด ผื่น คันจากแมลงสัตว์กัดต่อย อาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำและอาการวิงเวียนศีรษะ 4.ขี้ผึ้งไพลดำ ใช้ทาช่วยบำรุงเข่า ไขข้อต่างๆและใช้นวดเพื่อผ่อนคลาย และ5.โลชั่นกันยุง ใช้ทากันยุง ลดอาการคัน จากการแพ้สารต่างๆและบำรุงผิวให้ชุ่มชื่น  

ทั้งนี้ ได้กำชับสถานบริการในพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด สำรวจความพร้อม ระบบป้องกันน้ำท่วม ระบบสำรองไฟ และขนย้ายอุปกรณ์การแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ไปไว้ในจุดที่ปลอดภัย พร้อมรับเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง  เช่นที่ โรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์  และโรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งมีรายงานฝนตกหนัก ได้เตรียมพร้อมการป้องกันน้ำท่วม รวมทั้งแผนการจัดบริการกรณีเกิดน้ำท่วมซ้ำ นอกจากนี้ ยังให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคที่พบได้บ่อยจากการเดินลุยน้ำที่ท่วมขัง เช่น โรคเลปโตสไปโรซีสหรือโรคฉี่หนู ป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง  โดยเฉพาะผู้ที่มีแผล หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมรองเท้าบู๊ท และเมื่อขึ้นจากน้ำให้รีบอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย  หากมีไข้สูง ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดน่อง ให้รีบพบแพทย์ทันที  เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนอันตราย โดยในช่วงน้ำท่วมภาคใต้ที่ผ่านมาพบผู้ป่วย 6 รายที่ จ.นครศรีธรรมราช 

 

ในส่วนการฟื้นฟูสถานบริการ ขณะนี้ทีมวิศวกรรมการแพทย์ ได้เร่งฟื้นฟูสถานบริการ โดยที่โรงพยาบาลบางสะพาน เปิดให้บริการได้ในแผนกผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยในเปิดรับผู้ป่วยได้ 30 เตียง ส่วนห้องผ่าตัด ห้องคลอดเปิดบริการได้บางส่วนแล้ว และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) 2 แห่ง คือรพ.สต.บ้านช้าง จ.นครศรีธรรมราช รพ.สต.พ่วงพรมคร จ.สุราษฏร์ธานี อยู่ระหว่างซ่อมแซม 

**************************** 17 มกราคม 2560

 


   
   


View 19    17/01/2560   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ