นายกรัฐมนตรี ลงใต้ติดตามโครงการผลิตพยาบาลเพิ่มเพื่อพื้นที่ภาคใต้ พบภาพรวมนักศึกษาปรับตัวได้ดี สำหรับวิทยาลัยพยาบาลทั้ง 25 แห่ง ดูแลความเป็นอยู่อย่างเต็มที่ ให้สอดคล้องกลมกลืนกับหลักศาสนาและกฎระเบียบสถาบัน มีบางแห่งที่รับนักศึกษากลุ่มใหญ่ เช่น สุราษฎร์ธานี มีปัญหาความแออัดทั้งที่พักและห้องเรียน ซึ่งต้องเร่งแก้ไขต่อไป บ่ายวันนี้ (11 กันยายน 2550) พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร เดินทางไปเยี่ยมนักศึกษาพยาบาล ในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้กำลังใจและติดตามความเป็นอยู่ของนักศึกษา ตลอดจนความก้าวหน้าในการจัดการเรียนการสอน ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า โครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากจะเป็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพแล้ว ยังเป็นการสร้างอนาคตทางการศึกษาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเยาวชนในพื้นที่ภาคใต้ด้วย โดยขณะนี้มีนักศึกษาในโครงการทั้งหมด 2,993 คน กระจายอยู่ในวิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก 25 แห่งทั่วประเทศ แยกเป็นชาย 424 คน หญิง 2,569 คน อายุระหว่าง 17-34 ปี ร้อยละ 90 นับถือศาสนาอิสลาม นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในการดูแลความเป็นอยู่ของนักศึกษาเหล่านี้ วิทยาลัยพยาบาลทุกแห่งได้บริหารจัดการอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องสถานที่พัก สถานที่สำหรับละหมาด อาหารฮาราล รวมทั้งจัดกิจกรรมให้นักศึกษาได้ทำร่วมกับเพื่อนๆ โดยยึดหลักสมานฉันท์ และความสอดคล้องกลมกลืนกับหลักศาสนาและกฎระเบียบของวิทยาลัย ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดให้นักศึกษาพยาบาลในโครงการได้พูดคุยกับผู้ปกครอง ผ่านทางระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Tele-conference) เพื่อลดความกังวลของนักศึกษาและผู้ปกครอง โดยที่ผ่านมา 9 แห่ง ผู้ปกครองและนักศึกษาพอใจมาก อย่างไรก็ตาม จากการตรวจเยี่ยม พบว่าวิทยาลัยพยาบาลหลายแห่ง เมื่อรวมนักศึกษาในโครงการกับนักศึกษาในภาคปกติแล้ว มีจำนวนค่อนข้างมาก ทำให้เกิดความแออัด ทั้งที่พักอาศัยและห้องเรียน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนต่อไป ด้านนางอุบลรัตน์ โพธิ์พัฒนชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า วิทยาลัยฯ เป็น 1 ใน 5 แห่ง ที่มีการรับนักศึกษาในโครงการมากถึง 200 คน เป็นชาย 30 คน และหญิง 170 คน เมื่อรวมกับนักศึกษาภาคปกติอีก 90 คน ทำให้ต้องพักกันอย่างแออัดมาก กำลังอยู่ระหว่างต่อเติมหอพักเพิ่ม สำหรับห้องเรียนไม่สามารถจุนักเรียนได้พอ ต้องปรับใช้ห้องประชุมใหญ่เป็นห้องเรียนชั่วคราว คาดว่าเมื่อได้รับงบประมาณจัดสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม ปัญหานี้คงจะคลี่คลายลงได้ “เรามีนักศึกษาในโครงการอายุมากสุดคือ 30 ปี ซึ่งสมรสและมีบุตรแล้ว 5 คน แต่มีความตั้งใจจริงที่จะศึกษา ซึ่งทางวิทยาลัยมีนโยบายที่จะให้โอกาสและการสนับสนุนแก่ทุกคนที่ต้องการศึกษาอย่างเต็มที่ แม้ว่าอาจารย์จะต้องรับภาระงานเพิ่มในการดูแลนักศึกษาก็ตาม โดยสัดส่วนอาจารย์ต่อนักศึกษาขณะนี้อยู่ที่ 1 : 13 สูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 1 : 8” นางอุบลรัตน์กล่าว ********************************** 11 กันยายน 2550


   
   


View 15    11/09/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ