กระทรวงสาธารณสุข กำหนดเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุขระยะ 20 ปี ประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านการแพทย์และสาธารณสุข 1 ใน 3 ของเอเชีย เตรียมแนวทางแก้ไขปัญหาขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ ทั้งการขอเพิ่มอัตราข้าราชการ ขยายความก้าวหน้า และผลิตบุคลากรอื่นๆ เพิ่ม แบ่งเบาภาระงานพยาบาล

          นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข สำหรับกลุ่มวิชาชีพพยาบาล ว่า  กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านสาธารณสุขระยะ 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาลที่จะนำประเทศไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 รองรับอนาคตที่มีความเป็นสังคมเมือง สังคมผู้สูงอายุซึ่งในปี 2573 ไทยจะมีผู้สูงอายุถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด การเชื่อมต่อการค้าและการลงทุน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงระบบสุขภาพ ตั้งเป้าหมายให้ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข กำหนดแผนเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 คือการปฏิรูประบบสุขภาพ ระยะที่ 2 เป็นการสร้างความเข้มแข็ง ระยะที่ 3 ดำเนินการให้เกิดความยั่งยืน และระยะที่ 4 เมื่อสิ้นแผนในปี 2579 ประเทศไทยจะเป็นผู้นำด้านการแพทย์และสาธารณสุข 1 ใน 3 ของเอเชีย โดยการพัฒนาความเป็นเลิศใน 4 ด้านคือ 1.การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค 2.ระบบบริการ 3.การพัฒนาคน และ4.ระบบบริหารจัดการ

          นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ในการปฏิรูประบบสาธารณสุข จะต้องเริ่มจากการพัฒนาความเป็นเลิศด้านกำลังคน เพื่อให้เกิดการพัฒนาความเป็นเลิศด้านอื่นๆ ได้ตั้งเป้าหมายระยะ 18 เดือนใน 4 เรื่อง คือ การแก้ปัญหาขาดแคลนพยาบาล การวางแผนอัตรากำลังคน ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคเพื่อผลิตและพัฒนาบุคลากร และการปรับระบบค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข สำหรับปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ พบว่าเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากร ความเปลี่ยนแปลงทางระบาดวิทยา การขยายบริการตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) นโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค (Medical Hub) ถูกดึงตัวจากภาคเอกชน แผนแม่บทชายแดนพื้นที่พิเศษ การดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง ทำให้มีภาระงาน เพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพบริการ

          ในการแก้ไขปัญหาได้ดำเนินการใน 3 เรื่องคือ 1.ขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพรวม 11,442 อัตรา แบ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนในโรงพยาบาลทุกระดับ 10,992 อัตรา แบ่งบรรจุ 3 ปี (2560-2562) ปีละ 3,664 อัตรา และการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลตามแนวชายแดน แก่พยาบาลที่สำเร็จการศึกษาจากครงการผลิตพยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชน ในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่า ระยะเวลา 9 ปี (2560-2568) ปีละ 50 อัตรา รวม 450 อัตรา ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจาก อกพ. กระทรวงแล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม เสนอคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายอัตรากำลังคนภาครัฐ (คปร.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

          2.ขยายความก้าวหน้าของพยาบาลเป็นระดับชำนาญการพิเศษและระดับเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้น โดยขอยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ ไม่ต้องนำตำแหน่งว่างมายุบเลิก เพื่อธำรงรักษาพยาบาลที่มีประสบการณ์ให้อยู่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีพยาบาลที่เป็นข้าราชการปฏิบัติงานกว่า 80,000 คน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 4 ที่ดำรงตำแหน่งในระดับชำนาญการพิเศษและระดับเชี่ยวชาญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอ อ.ก.พ.กระทรวงพิจารณาต่อไป และ3.มอบให้สถาบันพระบรมราชชนกผลิตบุคลากร ได้แก่ ผู้ช่วยพยาบาลหลักสูตร 1 ปี ซึ่งมีความต้องการเพิ่มประมาณ 12,000 คน และเสมียนประจำหอผู้ป่วย เพื่อแบ่งเบาภาระงานของพยาบาล     

******************************  21 มิถุนายน 2559



   
   


View 22    21/06/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ