กระทรวงสาธารณสุข จัดเวทีเรียนรู้ทางกายภาพบำบัด พัฒนาวิชาชีพให้เหมาะสมสังคมไทย รับมือสังคมผู้สูงอายุ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยเฉพาะกลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ใช้กายภาพบำบัดเปลี่ยนให้เป็นกลุ่มติดสังคมแทน เพื่อทำประโยชน์ให้ชุมชนได้ ทั้งนี้ ชุมชนต้องร่วมมือ สนับสนุนกิจกรรมให้ผู้สูงอายุดูแลกัน

วันนี้ (20 มิถุนายน 2559) ที่ โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมกายภาพบำบัดแห่งชาติ  ครั้งที่ 8 ภายใต้แนวคิด งานบริการกายภาพบำบัดและการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ” พร้อมบรรยายพิเศษในหัวข้อ ทิศทางและนโยบาย กระทรวงสาธารณสุขต่อการรับมือสังคมผู้สูงอายุในอีก 10 ปี” ซึ่งมีนักกายภาพบำบัดทั้งภาครัฐและเอกชน อาจารย์กายภาพบำบัด ประชาชนกว่า 650 คน เข้าร่วมการประชุม เพื่อให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติดตามความก้าวหน้าและพัฒนาการทางกายภาพบำบัด ฝึกทักษะทางกายภาพบำบัดที่ทันสมัยจากวิทยากรที่มีประสบการณ์ด้านการวิจัยและทางคลินิก พัฒนาวิชาชีพกายภาพบำบัดให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย รวมทั้งสร้างเครือข่ายกายภาพบำบัดในระดับปฐมภูมิให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ภายในปี 2568 นี้ จะมีผู้สูงอายุประมาณ 14.4 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นเกินร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด กล่าวคือจะมีผู้สูงอายุ 1 คนในประชากรทุก 3 คน การจัดการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวจึงเป็นเรื่องสำคัญ ประกอบกับการตรวจคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุของกระทรวงสาธารณสุข 6,394,022 คน พบว่า เป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง กลุ่มติดบ้าน ติดเตียง ที่ต้องได้รับการบริการด้านสุขภาพและสังคมประมาณ 1.3 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขจึง ดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ตำบล (Long Term Care) จัดระบบการดูแลที่มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน เป็นบริการเชิงรุกให้บริการถึงบ้าน เน้นการส่งเสริมสุขภาพและดูแลผู้สูงอายุให้ได้รับการดูแลจากทีมสหวิชาชีพ จากหน่วยบริการปฐมภูมิอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

  โดยการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพแข็งแรง  ส่วนหนึ่งคือการทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ว่าจะก่อนป่วย หลังป่วย ต้องอาศัยการทำกายภาพบำบัด เพื่อเป็นความหวังและกำลังใจสำคัญร่วมกับการให้ยา โดยในปีนี้จะดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงทั่วประเทศ 100,000 คนในพื้นที่ 1,000 ตำบล และจะขยายให้ครอบคลุมครบทุกตำบล 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2561 เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง กลายเป็นผู้สูงอายุติดบ้าน และจากผู้สูงอายุติดบ้าน เป็นติดสังคม ติดชุมชน ให้ออกมาทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้ ทั้งนี้ชุมชนต้องให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนกิจกรรมให้ผู้สูงอายุดูแลกัน เพราะผู้สูงอายุจะเข้าใจกันและกันมากที่สุด

 

          อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมและพัฒนาความรู้ที่ทันสมัยแก่นักกายภาพบำบัด ถือเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางสุขภาพ ตั้งแต่การตรวจประเมินวินิจฉัย การบำบัดรักษาความบกพร่องของร่างกาย การแก้ไขฟื้นฟูความเสื่อมสภาพตลอดจนความพิการของร่างกาย การส่งเสริมป้องกันปัญหาทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการบริการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดปัญหาการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยเรื้อรัง รวมถึงลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการใช้ยาอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับประชาชน สังคมและประเทศ

 

มิถุนายน 4/5 ******************************** 20 มิถุนายน 2559



   
   


View 16    20/06/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ