กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคีเครือข่าย “รณรงค์ล้างส้วมพร้อมกัน...รับวันสงกรานต์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย วันที่1-7 เมษายน 2559 ในส้วมสาธารณะ 12 ประเภทโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยว เน้น 7 จุดเสี่ยงอันตรายที่พบตรวจเชื้อโรคเตรียมขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ปรับปรุงส้วมในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจังหวัดผ่านมาตรฐานแฮส (HAS…Happy Toilet) อย่างน้อย 3 แห่ง สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดและประเทศ 

 
วันนี้ (31 มีนาคม 2559) ที่ซาฟารีเวิลด์ กรุงเทพฯ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเสวนาและเปิดกิจกรรม รณรงค์ล้างส้วมพร้อมกัน...รับวันสงกรานต์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย “เที่ยวสงกรานต์สุขใจ ส้วมสะอาดน่าใช้  ปลอดภัย ปลอดโรค” ร่วมกับนางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวรางกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย และดร.ผิน คิ้วคชา ประธานกรรมการบริหาร บริษัทซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) พร้อมมอบรางวัลสุดยอดส้วมในดวงใจมหาชน โดยภาคกลาง ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กทม. ภาคเหนือได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้แก่ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด   และรางวัลพิเศษที่มียอดกดไลค์สูง  ได้แก่    ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จ.ปทุมธานี
 
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีประชาชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวหรือเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันรณรงค์ล้างส้วมพร้อมกัน...รับวันสงกรานต์ และพัฒนาส้วมสาธารณะในสถานที่ท่องเที่ยว และสถานที่สาธารณะเป้าหมาย ให้สะอาด ได้มาตรฐาน เพียงพอ ให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเชิญชวนเจ้าของสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศทำความสะอาดส้วมพร้อมกัน ในวันที่ 1 – 7 เมษายน เพื่อให้ผู้เดินทางใช้บริการส้วมสาธารณะอย่างมีความสุข ปลอดภัย เน้นการทำความสะอาดอย่างถูกวิธี เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ใน 7 จุดเสี่ยงอันตรายที่พบตรวจเชื้อโรค ได้แก่ ที่จับสายฉีดน้ำซึ่งตรวจพบเชื้อโรคมากที่สุดถึงร้อยละ 85 บริเวณพื้นห้องส้วมพบร้อยละ 50  ที่รองนั่งโถส้วมพบร้อยละ 31 ที่กดโถส้วมและโถปัสสาวะพบร้อยละ 8 ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือร้อยละ 7 กลอนประตูหรือลูกบิดร้อยละ 3 รวมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกวิธีคือ ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม
 
กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย 12 ประเภทให้ผ่านมาตรฐานแฮส (HAS) คือ สะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) ได้แก่ 1.สถานศึกษา 2.สถานที่ราชการ 3.โรงพยาบาล 4.ศาสนสถาน 5.สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 6.แหล่งท่องเที่ยว 7.สวนสาธารณะ 8.ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า 9.ร้านจำหน่ายอาหาร 10.ตลาดสด 11.สถานีขนส่งทางบก/ทางอากาศ และ12.ส้วมสาธารณะริมทาง ผลการดำเนินงานรอบ 10 ปีที่ผ่านมาดีขึ้นเป็นลำดับ มีส้วมสาธารณะผ่านเกณฑ์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 ในปี 2549 เป็นร้อยละ 71 ในปี 2558 โดยส้วมสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยวผ่านเกณฑ์ร้อยละ 74 
 
ทั้งนี้ ผลสำรวจของกรมอนามัยพบว่าส้วมสาธารณะที่ประชาชนเลือกใช้บริการมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ส้วมห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 87 ส้วมปั๊มน้ำมันร้อยละ 73  สถานที่ท่องเที่ยวร้อยละ 59 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการใช้ส้วมขณะเดินทางท่องเที่ยว  รวมทั้งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา มากขึ้นกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพัฒนาให้ส้วมสาธารณะใน 12 เมืองต้องห้ามพลาดและ 12 เมืองต้องห้ามพลาด พลัส (เมืองคู่แฝด) สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย ได้มาตรฐาน HAS… Happy Toilet ที่กรมอนามัยกำหนด พร้อมบริการแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว 
 
นอกจากนี้ จะขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ปรับปรุงส้วมในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของจังหวัดผ่านมาตรฐาน HAS…Happy Toilet อย่างน้อย 3 แห่ง เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดและประเทศรวมทั้งจัดทำแผนแม่บทพัฒนาส้วมไทยในอนาคต รองรับสังคมผู้สูงอายุที่คาดว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 20 หรือ 14.5 ล้านคนในปี 2568 มุ่งเน้นให้สถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สาธารณะต่างๆ มีส้วมผู้พิการพร้อมใช้งาน มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกตามกฎหมายกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการอย่างทั่วถึง
ด้าน นางกอบกาญจน์ สุริยสัตย์ วัฒนวรางกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมห้องน้ำสาธารณะที่สะอาดได้มาตรฐานเพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวโดยจัดโครงการรณรงค์ห้องน้ำสาธารณะสะอาดเพื่อการท่องเที่ยว หรือWC OK เน้นบูรณาการความร่วมมือจากองค์กรภาครัฐและเอกชนผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สร้างเป็นเครือข่ายเพื่อการรณรงค์พัฒนาและส่งเสริมให้มีห้องน้ำสาธารณะที่สะอาดได้มาตรฐานในแหล่งท่องเที่ยวไว้บริการแก่นักท่องเที่ยว โดยร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขให้การรับรองห้องน้ำสาธารณะสะอาดที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะระดับประเทศ แฮส (HAS… Happy Toilet) ของกรมอนามัย และให้ได้รับการรับรองเป็นห้องน้ำสาธารณะสะอาดเพื่อการท่องเที่ยว(WCOK) ในปีที่ผ่านมา มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมโครงการถึง 784 องค์กร และมีห้องน้ำผ่านเกณฑ์ถึง 151,952 ห้อง ในปี 2559 ตั้งเป้าความร่วมมือเพิ่มอีกร้อยละ 5 ในเครือข่ายห้องน้ำสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว 
 
ทั้งนี้ ในการร่วมกันพัฒนาและดูแลห้องน้ำสาธารณะนั้น นอกจากจะคำนึงถึงการผ่านเกณฑ์มาตรฐานความสะอาด ปลอดภัย มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการแล้ว จะมีการจัดอบรมสัมมนาใน 12 จังหวัดจาก “12 เมืองต้องห้าม...พลาด”, “12 เมืองต้องห้าม...พลาด Plus” และ “เขตพัฒนาการท่องเที่ยว (Cluster 5+3)” รวมผู้อบรม 1,500 คน แบ่งเป็น 2 หลักสูตร ดังนี้ 1) หลักสูตรการบริหารจัดการภาพลักษณ์ห้องน้ำเพื่อการท่องเที่ยว สำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ รวม 750 คน 2) หลักสูตรการเป็นเจ้าบ้านที่ดีเพื่อรองรับการท่องเที่ยวอาเซียน การสร้างจิตสาธารณะเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว สำหรับกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา รวม 750 คน รวมทั้งการจัดงานรณรงค์ห้องน้ำสาธารณะสะอาดและประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์ในการประเมินมาตรฐานห้องน้ำสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว (WC OK) ประกอบด้วย แถลงข่าวร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1 ครั้ง และจัดงานรณรงค์จำนวน 3 ครั้ง ในกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง
 
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ประชาชน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างชาติได้ตระหนักถึงความสะอาดของห้องน้ำซึ่งเป็นพื้นฐานในการบริการให้แก่นักท่องเที่ยว โดยเน้นที่ห้องน้ำสะดวก สะอาดนั้น มีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวพร้อมทั้งกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจง่ายขึ้นในการเดินทางมาท่องเที่ยวและบอกต่อๆ ถึงห้องน้ำที่ได้มาตรฐานของไทย และเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ พร้อมกับยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวของไทยอย่างยั่งยืนอีกด้วย 
 
********************  31 มีนาคม 2559


   
   


View 22    31/03/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ