กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ 3 หน่วยงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ แก้ปัญหาสุขภาพให้ตรงสภาพพื้นที่ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เน้น “พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ตามแนวประชารัฐ


วันนี้ (30 มีนาคม 2559) ที่ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง “ประชารัฐร่วมใจ พัฒนาบริการ โดยระบบสุขภาพอำเภอ” พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “คณะกรรมการบริหารระบบสุขภาพอำเภอ” ระหว่างนายอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ ในพื้นที่ 73 อำเภอ และ “การขับเคลื่อนระบบสุขภาพเขตเมือง” โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน


นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า ความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นับเป็นก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ประชาชน เข้าถึงระบบบริการอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยใช้ “พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” ทำงานแบบมีส่วนร่วมของภาครัฐ ประชาสังคม เอกชน ตามแนวทางประชารัฐ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระบบสุขภาพอำเภอ (Districts Health System: DHS) โดยมีคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสุขภาพอำเภอ จัดการระบบสุขภาพที่เหมาะกับพื้นที่ ทรัพยากร บุคลากร เทคโนโลยี สารสนเทศ องค์ความรู้และงบประมาณร่วมกัน เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของประชาชนให้มั่นคงและยั่งยืน มีระบบบริการที่ประชาชนเข้าถึงง่าย “ใกล้บ้านใกล้ใจ” สร้างสุขภาพสู่สุขภาวะที่ยั่งยืน พึ่งตนเองได้ เป็นการสร้าง “พลเมือง” ให้มีทักษะ มีปัญญา มีสุขภาวะ มีคุณธรรมจริยธรรม บนพื้นฐานการมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองได้อย่างจริงจัง ควบคู่กับการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนให้เข้มแข็ง โดยสร้างกลไกเครือข่ายประสานงานร่วมกัน จุดมุ่งหมายอยู่ที่ประชาชน ทุกภาคส่วนร่วมสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้ประชาชนดูแลตนเองได้ ไม่ใช่เริ่มที่โรคภัย


ทั้งนี้จะเริ่มดำเนินการใน 73 อำเภอ 47 จังหวัด กระจายทั่วประเทศ จากความสมัครใจของพื้นที่เครือข่ายสุขภาพอำเภอที่เข้มแข็ง มีแนวทางการเลือกพื้นที่ คือ 1.เขตเมือง เช่น กรุงเทพฯ เมืองขนาดใหญ่ 2.ความหลากหลายของประชากรพื้นที่ 3.พื้นที่พิเศษ เช่น ห่างไกลหรือทุรกันดาร ชายแดน และ 4.ความหลากหลายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น


นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังให้ความสำคัญในพื้นที่เขตเมืองและพื้นที่ซับซ้อน ที่เข้าถึงบริการยาก ให้เกิดความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการรับบริการสาธารณสุข จึงพัฒนาพื้นที่นำร่องบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Clusters) มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและสหสาขาวิชาชีพ ดูแลสุขภาพประชาชน ระยะแรกจะดำเนินการในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง

 

******************** 30 มีนาคม 2559



   
   


View 23    30/03/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ