กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวังอาหารปลอดภัยที่นิยมนำมาใช้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ยังพบปัญหาสารเร่งเนื้อแดงในหมู ยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่นำผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้มาตรฐานมาจำหน่าย แนะประชาชนเลือกซื้ออาหารไหว้ จากตลาดสดน่าซื้อ หรือจากร้านค้าที่ได้มาตรฐาน 

 
วันนี้ (4 กุมภาพันธ์ 2559) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นายแพทย์สุเทพ  เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ร่วมกันแถลงข่าว “อาหารปลอดภัย ในช่วงเทศกาลตรุษจีน”
 
นายแพทย์โสภณกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยอาหารที่ผลิต และจำหน่ายในประเทศ  ทั้งด้านคุณค่าทางโภชนาการ ความปลอดภัยจากสารอันตรายและเชื้อโรคปนเปื้อน มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง โดยเฉพาะการปนเปื้อนของสารเคมีที่เป็นอันตราย ซึ่งส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง ที่ยังเป็นปัญหาเช่น ยาฆ่าแมลงในผัก ผลไม้ และสารเร่งเนื้อแดง สำหรับในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนจะจับจ่ายซื้ออาหารสำหรับไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือนำไปบริโภคจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเป็ด ไก่ หมู เครื่องใน ขนมเทียน ขนมเข่ง ส้ม เป็นต้น ซึ่งอาหารเหล่านี้เป็นอาหารสดหรือปรุงไว้ล่วงหน้าทำให้เสี่ยงต่อการเน่าเสียได้ง่าย ต้องใช้ความระมัดระวังในการเลือกซื้อ 
โดยในปีงบประมาณ 2556-2558 กระทรวงสาธารณสุขได้สุ่มตัวอย่างอาหารที่นิยมใช้ในเทศกาลตรุษจีน ที่แหล่งจำหน่าย เช่น ตลาดสด ตลาดนัด ซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศ  ประกอบด้วย เนื้อหมูพบสารเร่งเนื้อแดง ร้อยละ 0.49, 0.87 และ 0.41 ผัก (ผักกาดขาว ผักบุ้ง คะน้า ผักกวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย) พบยาฆ่าแมลง ร้อยละ 2.93, 2.80 และ 2.28 ผลไม้ (ส้ม แอปเปิ้ล ฝรั่ง องุ่น) พบยาฆ่าแมลง ร้อยละ 3.30, 3.30 และ 3.01 ได้แจ้งให้สถานที่จำหน่ายคัดเลือกสินค้าจากแหล่งผลิตที่ได้การรับรองมาตรฐานหรือที่เชื่อถือได้ ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่นำผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ได้มาตรฐานมาจำหน่าย พร้อมส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแหล่งผลิตต้นทางระดับฟาร์มหรือแหล่งค้าส่ง ซึ่งจะทำการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
 
ขอให้ประชาชนเลือกซื้ออาหารจากตลาดสดน่าซื้อหรือร้านค้าที่มีป้ายสัญลักษณ์รับรองของหน่วยงานราชการ การปรุงอาหารต้องเน้นปรุงให้สุก เช่น การเตรียมเป็ด ไก่ ก่อนนำมาประกอบอาหาร ต้องล้างให้สะอาด 2-3 ครั้ง และล้างในช่องท้องให้สะอาดทั่วถึง ส่วนผัก ผลไม้ ควรล้างด้วยน้ำเปล่าก่อน 1 ครั้ง จากนั้นนำมาแช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอนเนตหรือเบคกิ้งโซดา อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาทีเพื่อลดสารตกค้างของยาฆ่าแมลง ที่สำคัญต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากคือ การปรุงให้สุก เป็ด ไก่ที่แช่แข็งไว้ ไม่ควรนำมาต้มทันที เนื่องจากจะทำให้ส่วนเนื้อที่อยู่ด้านใน ติดกระดูกอาจไม่สุก ควรนำออกมาแช่เย็นช่องธรรมดา 1 คืนก่อนต้ม เพื่อน้ำแข็งละลายก่อน ใช้อุปกรณ์ หยิบจับอาหาร หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนสัมผัสอาหาร
 
สำหรับอาหารที่นำมาไหว้ที่ไม่สามารถบริโภคให้หมดในวันเดียว เช่น ขนมเทียน ขนมเข่ง ควรนำไปเก็บในตู้เย็น หรือนำมาตากให้แห้งซึ่งเป็นวิธีถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่ง และต้องสังเกตก่อนนำมารับประทานว่าไม่มี เชื้อรา หรือมีกลิ่นผิดปกติ และควรระมัดระวังไม่ทำให้อาหารที่นำมาไหว้ปนเปื้อนกับเศษขี้ธูป                
   
นอกจากนี้ ในพิธีไหว้บรรพบุรุษยังมีการจุดธูปเป็นจำนวนมาก ทำให้มีการสูดควันธูปเข้าสู่ร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเนื่องจากควันธูปมีสารพิษหลายชนิดเช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ทำให้เกิดการระคายเคือง แสบตา แสบจมูก ซึ่งหากคนที่เป็นโรคหอบหืดหรือหลอดลมอักเสบ สูดดมเข้าไปก็จะเกิดอาการเหนื่อยได้ ดังนั้นเพื่อให้การไหว้บรรพบุรุษห่างไกลจากโรค ควรหลีกเลี่ยงการจุดธูปในบริเวณอากาศไม่ถ่ายเท หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวกเช่น ห้องแอร์ ห้องที่ไม่มีประตู หน้าต่าง โดยกระถางธูปควรตั้งไว้นอกศาลาโบสถ์หรือศาลเจ้า ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวกกว่า ควรใช้ธูปสั้น เมื่อเสร็จพิธีสักการะควรดับหรือเก็บธูปให้เร็วขึ้น
********************* 4 กุมภาพันธ์ 2559
 
 
 


   
   


View 17    04/02/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ