กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับการจัดการโรคมาลาเรียจากควบคุมโรคเป็นกำจัดโรค ด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ตั้งเป้าให้ทุกอำเภอปลอดเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปีในปี 2567  พร้อมเร่งกำจัดเชื้อดื้อยาในพื้นที่ 6 จังหวัดชายแดน และค้นหาผู้ป่วยเข้ารักษารวดเร็วเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด

นายแพทย์โสภณ  เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในการยุติปัญหาโรคมาลาเรียของประเทศไทย ว่า กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับการจัดการโรคมาลาเรียของประเทศจากการควบคุมโรคเป็นการกำจัดโรค โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์กำจัดโรคมาลาเรีย ระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2560-2569) และแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี  (พ.ศ.2560-2564)   วงเงินงบประมาณ 2,280 ล้านบาท มียุทธศาสตร์ 4 ข้อ คือ 1.เร่งรัดกำจัดการแพร่เชื้อในประเทศไทย ไม่ให้มีผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่ เน้นระบบเฝ้าระวัง ค้นหารวดเร็ว รักษาเร็ว  และกำจัดเชื้อดื้อยา 2.พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม มาตรการ และรูปแบบในการกำจัดโรคไข้มาลาเรียที่เหมาะสมกับพื้นที่

3.สร้างความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายระดับประเทศและนานาชาติ ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อเนื่อง ยั่งยืน และ4.ส่งเสริมให้ประชาชนมีศักยภาพในการดูแลตนเองจากโรคไข้มาลาเรีย ตั้งเป้าให้ทุกอำเภอของประเทศไทยไม่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียในพื้นที่ติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปีภายในปี 2567 โดยผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการบริหารกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำจัดมาลาเรียแห่งชาติ ซึ่งมีพลเรือเอกณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในเดือนกุมภาพันธ์2559 ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม 2559

ด้าน นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียได้อย่างน่าพอใจ ผู้ป่วยลดน้อยลงเป็นลำดับ ข้อมูลตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 - 7  มกราคม 2559 ผู้ป่วย 20,400 ราย ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 36 ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 13,663 ราย ต่างชาติ 8,951 ราย และผู้อพยพในศูนย์พักพิงชั่วคราว 1,414 ราย ปัญหาใหม่ที่ต้องเร่งจัดการคือกำจัดเชื้อดื้อยาอาร์ติมิซินินที่ใช้ในการรักษา ซึ่งพบในจังหวัดตามแนวชายแดน 6 จังหวัด ได้แก่ ตาก กาญจนบุรี ระยอง สุรินทร์ ศรีษะเกษ ตราด ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น ใช้เวลาในการรักษานานขึ้น ค่าใช้จ่ายในการรักษาเพิ่มขึ้น 7-8 เท่าตัว อีกทั้งลักษณะการแพร่ระบาดของแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน จึงต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมกับพื้นที่  และเพิ่มการเข้าถึงของประชากรกลุ่มเสี่ยง เน้นหนักการค้นหาผู้ติดเชื้อให้พบโดยเร็ว และนำมารับการรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดของโรค  โดยมีอำเภอที่มีการแพร่เชื้อสูง 50 อำเภอ ที่มีการแพร่เชื้อต่ำ 198 อำเภอ อำเภอที่ไม่มีการแพร่เชื้ออย่างน้อย 1 ปีแต่ยังไม่ครบ 3 ปี 48 อำเภอ และอำเภอที่ไม่มีการแพร่เชื้ออย่างน้อย 3 ปี 632 อำเภอ

ทั้งนี้  เชื้อมาลาเรียในคนมี 5 ชนิด เชื้อที่พบพบในไทย ส่วนใหญ่เป็นชนิดฟัลซิปารัมซึ่งมีความรุนแรงสูง และไวแวกซ์ บางรายอาจติดเชื้อมาลาเรียมากกว่า 1 ชนิดพร้อมกัน การแพร่กระจายของผู้ป่วยมาลาเรียจะพบมากบริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณชายแดน ไทย–พม่า ไทย-ลาว และไทย–กัมพูชา 5 จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงคืออุบลราชธานี ตาก ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี กาญจนบุรี และยะลา คิดเป็นร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่พบทั้งประเทศ

***************************  31 มกราคม 2559

 


   
   


View 17    31/01/2559   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ