ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ขับขี่รถเดินทางกลับภูมิลำเนา ท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559    รวมทั้งผู้ขับขี่รถสาธารณะที่บริการรับส่งประชาชน หลับในเพียง 10 วินาทีเกิดอุบัติเหตุได้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หยุดพักระหว่างทางทุก 2 ชั่วโมง หรือทุก 150 กิโลเมตร ง่วงไม่ขับ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

วันนี้ (30 ธันวาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข    ให้สัมภาษณ์ ว่าช่วงวันหยุดเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะมีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือวางแผนเดินทางท่องเที่ยว ควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากความง่วงมีผลต่อสมรรถภาพการขับรถเหมือนกับการเมา ทำให้การทำงานของสมองและประสาทสัมผัสทุกอย่างช้าลง ใจลอย ไม่มีสมาธิ การรับรู้ช้าลง การตัดสินใจผิดพลาด การสั่งการของสมองไปยังกล้ามเนื้อช้าลง  เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขัน  จึงแตะเบรกหรือหักรถหลบหลีกได้ช้ากว่าปกติ คนที่ง่วงแล้วขับ จึงไม่ต่างกับคนเมาแล้วขับ สำหรับผู้ขับรถสาธารณะควรปฏิบัติโดยอย่างเคร่งครัด เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุที่อาจรุนแรงขึ้นได้
นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า การหลับใน (Sleep without closing eyes) คือ การหลับขณะที่ตายังเปิดอยู่แต่ไม่รับรู้ภาพเบื้องหน้า อาจเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 10 วินาทีโดยผู้ขับขี่ไม่รู้สึกตัว และบังคับตัวเองไม่ได้ชั่วขณะ ถ้าวิ่งรถด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. รถจะวิ่งต่อไปอีก 100 เมตร โดยขาดการควบคุมรถจะชนรุนแรงเพราะคนขับรถไม่ได้หักหลบหรือเหยียบเบรกทำให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ทันที 
กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยในการเดินทางของประชาชนก่อนเดินทางควรเตรียมตัว     เพื่อหลีกเลี่ยงการง่วงขณะขับรถ ดังนี้ 1. หลีกเลี่ยงการเดินทางช่วงกลางคืน เผื่อเวลาการเดินทางให้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องเร่งรีบให้ถึงจุดหมาย เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ขับรถเร็ว เมาไม่ขับ ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ 2.ควรหยุดพักระหว่างทางทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือทุก 150 กิโลเมตร เพื่อลดความเมื่อยล้าของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงที่เดินทางกลับ หากไม่สามารถหยุดพักรถได้ ควรจิบน้ำเปล่าบ่อยๆ ทานผลไม้รสเปรี้ยวหรือลูกอมเปรี้ยวๆ จะช่วยกระตุ้นประสานให้สดชื่นๆ เตรียมน้ำแข็งไว้ให้คนขับอมหรือถูขมับ หรือปิดแอร์เปิดกระจกให้รู้สึกสดชื่นขึ้น หากไม่ไหวจริงๆอย่าฝืนขับให้หาที่ปลอดภัยจอดรถนอนพัก 10-15 นาที
3.สิ่งที่สำคัญไม่ควรมองข้ามคือ “สมาธิ” ผู้ร่วมทางควรมีส่วนสนับสนุนให้เกิดการขับขี่ปลอดภัย ชวนคุยแต่พอดี ไม่ให้เสียสมาธิ ช่วยดูเส้นทาง อำนวยความสะดวกให้ผู้ขับ เดินทางไกล   4.ในเส้นทางที่หมอกลงจัด ทำให้ทัศนะวิสัยในการมองเห็นลดลง ควรเปิดโคมไฟใหญ่หรือไฟต่ำหรือไฟตัดหมอก เพื่อให้มองเห็นสภาพเส้นทางได้ชัดเจนขึ้น และไม่ควรขับแซงหรือเปลี่ยนช่องการจราจรอย่างกะทันหัน
********************************  30 ธันวาคม 2558
 


   
   


View 19    30/12/2558   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ